นักเศรษฐศาสตร์มองประชามติเป็นบวกต่อศก.แต่ไม่มีนัยสำคัญ-ติงกระบวนการมีส่วนร่วมน้อยเกินไป

ข่าวการเมือง Monday August 8, 2016 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเป็นบวกต่อตลาดหุ้นและการลงทุนในตลาดเงินแต่ไม่มีนัยสำคัญมากนัก โดยตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงสั้นๆเท่านั้น เนื่องจาก P/E ratio หรือ อัตราส่วนของราคาต่อกำไรของตลาดหลักทรัพย์และหุ้นพื้นฐานดีจำนวนมากอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้ว

ส่วนเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกอย่างน้อย 5-10% จากระดับปัจจุบัน ทางด้านภาคเศรษฐกิจจริงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ภาคส่งออกจะยังคงขยายตัวต่ำหรืออาจติดลบต่อ ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ภาคท่องเที่ยวยังคงดีกว่าที่คาดการณ์เช่นเดิม ภาคการบริโภคและความเชื่อมั่นผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากการคาดหวังที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า

"ยืนยันการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.2-3.5% เช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง โดยปรับเพิ่มการเติบโตของการลงทุนภาครัฐและการกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวดีกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ส่วนภาคส่งออกน่าจะติดลบตามที่คาดการณ์ไว้เดิม (-1) – (-2)%"

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เสียงประชามติออกมาเป็นเอกฉันท์นั้นอาจสะท้อนว่าสังคมมีความขัดแย้งลดลง หากก่อนหน้านี้มีการเปิดกว้างกว่านี้ ผลของการลงประชามติจะมีความหมายมากขึ้น ประเด็นเนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ขัดแย้งกันสูง เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว. ดุลยภาพทางอำนาจ ระบบและกลไกในการจัดการปัญหาการทุจริต ประเด็นเรื่องระบบสวัสดิการของรัฐ ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษาฟรีหรือการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข เป็นต้น จะคลี่คลายลงจากระบวนการการมีส่วนร่วม กระบวนการถกแถลงและเจรจาหารือกัน

ส่วนภารกิจการปฏิรูปประเทศเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลายาวนานจึงบรรลุเป้าหมาย กระบวนการปฎิรูปจำเป็นต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และควรเป็นกระบวนการที่ยึดถือหลักการประชาธิปไตย

ทั้งนี้ การลงประชามติ เกิดผลบวกต่อการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยและการยอมรับเสียงข้างมาก ลดความเสี่ยงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรง การฉีกรัฐธรรมนูญและการรัฐประหารในอนาคตได้ระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่การมาใช้สิทธิอยู่ที่ระดับเพียง 55% เท่านั้น เทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปปี 54 ที่ประชาชนมาใช้สิทธิถึง 75%

"ผู้มาใช้สิทธิค่อนข้างน้อย ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรนำผลการแสดงประชามติไปศึกษาวิจัยดูว่าผลการแสดงประชามติออกมาอย่างที่ปรากฎเพราะอะไร โดยควรทำความเข้าใจทั้งผู้ที่ออกเสียงรับและไม่รับ เพื่อจะได้เข้าใจเจตนารมณ์ของประชาชน และ สามารถนำพาประเทศไปสู่ “สันติธรรม" และ “ประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีคุณภาพกว่าเดิม"

สำหรับการจัดทำกฎหมายลูก นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ต้องยึดหลักการสำคัญการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ที่ไม่ถดถอยไปจากเดิม พัฒนาสถาบันพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง เปิดกว้างและสร้างแรงจูงใจให้คนดีมีความรู้เข้าสู่การสมัครรับเลือกตั้ง การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยของกลไกทางการเมืองที่มีความสมดุล การกำหนดให้มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดการตนเอง การกำหนดมาตรการในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ขยายผลไปสู่การใช้ความรุนแรง ยุทธศาสตร์ 20 ปีควรเป็นทิศทางใหญ่ เป้าหมายโดยรวม

ส่วนรายละเอียดแผนการดำเนินการควรเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง รวมทั้ง มีบทบัญญัติที่เอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ยากเกินไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของสังคมตามความจำเป็นและตามกรอบของกฎหมาย รวมทั้งไม่เป็นข้ออ้างในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญอีกในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ