ครม.ให้สภาพัฒน์รวบรวมความเห็นจากหลายหน่วยงานไปปรับปรุงแก้ไขร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนนำกลับมาเสนออีกครั้ง 5 มิ.ย.

ข่าวการเมือง Tuesday May 22, 2018 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้เสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งพบว่ามีหลายหน่วยงานได้แสดงความคิดเห็นเข้ามาอย่างหลากหลาย ดังนั้นที่ประชุม ครม.จึงได้ขอให้สภาพัฒน์นำความคิดเห็นของแต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว เพื่อนำกลับมาเสนอที่ประชุมครม.ใหม่อีกครั้งในวันที่ 5 มิ.ย.61

รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ในสาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ชาติจะยังคงเดิม ภายใต้วิสัยทัศน์ของการเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ มีการยกระดับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นคนดี มีการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างความเสมอภาคทางสังคม สร้างการเติบโตบนฐานคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

สำหรับตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 6 ตัวชี้วัด คือ ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย, รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปี, ดัชนีการพัฒนามนุษย์, ดัชนีวัดความก้าวหน้าทางสังคม, ดัชนีวัดคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม และอันดับความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ มีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง เน้นการรักษาความสงบภายใน การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญกับภัยคุกคามที่จะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ บูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับต่างประเทศ พัฒนาบริหารจัดการกลไกความมั่นคงแบบองค์รวม เพื่อให้การทำงานด้านความมั่นคงในอนาคตมีความเป็นเอกภาพ และสามารถดูแลความสงบภายในประเทศได้

2.ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน เป็นการยกระดับประเทศเพื่อพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคเกษตร สร้างความหลากหลายของสินค้าเกษตร ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการไปสู่อุตสาหกรรมอนาคต การสร้างทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างการท่องเที่ยวและสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ และความหลากหลายในการท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงภายในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ มีการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ มีการปลูกฝังค่านิยมที่พึงประสงค์ สร้างคนที่มีวินัย ปฏิรูปการเรียนรู้ทางการศึกษาให้สอดรับกับความต้องการในศตวรรษที่ 21 การสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

4.ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นการเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้งสังคม และเศรษฐกิจ มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก การกระจายการถือครองทรัพย์สิน การสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่ประชาชนทุกคนในทุกช่วงวัย การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เพื่อเป็นฐานในการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่น

5.ยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตในคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล ทั้งทางบกทางทะเล การบริหารจัดการน้ำ การลดก๊าซเรือนกระจก การฟื้นฟูป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการมลพิษ

6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลย์และการบริหารจัดการภาครัฐ มุ่งเน้นให้ภาครัฐก้าวไปสู่การมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้บริการประชาชนโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นการทำให้ภาครัฐปลอดทุจริต การออกกฎหมายต่างๆ ที่จะต้องดูแลให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป

"ทั้งหมดนี้ เป็นสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติที่นำเสนอครม.วันนี้ ซึ่งครม.มีมติให้สภาพัฒน์รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาปรับปรุงร่าง และนำเสนออีกครั้งภายในวันที่ 5 มิ.ย." รองเลขาธิการ สศช.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ