ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วง ECB ใช้ QE กระทบส่งออกไทย จับตาทิศทางดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2015 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ผลกระทบในภาพรวมจากมาตรการ QE ครั้งใหญ่ของ ECB น่าจะเป็นเชิงบวก ทำให้ตลาดการเงินตอบรับในเชิงบวก อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะการกำหนดแนวทางซื้อพันธบัตรของ ECB ให้ครอบคลุมไปถึงพันธบัตรรัฐบาลภายใต้วงเงินซื้อต่อเดือนที่ชัดเจนมากขึ้นนี้ น่าจะเพิ่มโอกาสให้ระบบเศรษฐกิจ-การเงินของยูโรโซนได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าเดิมจากเครื่องมือของนโยบายการเงิน (ที่จำเป็นต้องเข้ามารับบทบาทหลักในการช่วยประคองสถานการณ์เศรษฐกิจในยามที่รัฐบาลของสมาชิกยูโรโซนแต่ละประเทศ ยังมีข้อจำกัดในการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง)

ส่วนผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกของไทยไปยูโรโซนนั้น มองว่า มาตรการ QE ของ ECB อาจกดดันให้เงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท ซึ่งย่อมเป็นปัจจัยกระทบความสามารถในการแข่งขัน และกดดันให้การส่งออกไทยไปยูโรโซนมีภาพที่ไม่สดใสมากนักในปีนี้ นอกเหนือไปจากผลกระทบที่เกิดจากการตัดสิทธิ GSP และแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่น่าจะยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ ตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และค่าเงินบาทของไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ จุดเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่รออยู่ในช่วงกลางปี 2558 รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศของไทย

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รายละเอียด และเงื่อนไขหลายๆ ส่วนจากมาตรการ QE ของ ECB ทำให้ประเมินว่า ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของ ECB และผลกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อาจจะไม่เด่นชัดเท่ากับมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพราะอาจมีความเป็นไปได้ว่า ข้อจำกัดในการเข้าซื้อพันธบัตรทั้งในส่วนของ ECB และธนาคารกลางแต่ละประเทศตามเงื่อนไข จะส่งผลทำให้ขนาดงบดุลของ ECB เพิ่มขึ้นน้อยกว่าวงเงินซื้อสินทรัพย์ที่ตั้งไว้ที่ 6.0 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (ซึ่งหากกรณีนี้เกิดขึ้น ECB ก็อาจจะต้องมาทบทวนรายละเอียดของมาตรการในภายหลัง)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ