Analysis: นักวิเคราะห์ชี้ ฟิลิปปินส์ ไทย จีน สามารถพลิกวิกฤตราคาน้ำมันเป็นโอกาส

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 13, 2015 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่า ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในช่วงขาลงทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันในเอเชียอย่าง ฟิลิปปินส์ ไทย และจีน เป็นต้น

เมื่อวานนี้ ราคาน้ำมันดิบร่วงลงไปแตะที่ระดับ 48 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่าครึ่งของระดับราคา 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อเดือนมิถุนายน 2557

ฟิลิปปินส์นำเข้าน้ำมันในอัตรา 93% ของความต้องการใช้น้ำมันทั้งหมดภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันมากที่สุดจากภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ซัพพลายเออร์น้ำมันดิบ และปิโตรเลียมรายใหญ่ของฟิลิปปินส์ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย รองลงมาคือ รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย กาตาร์ และบรูไน

นักวิเคราะห์ระบุว่า เมื่อราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนัก ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และบรูไน ดารุสซาลาม ย่อมได้รับผลกระทบในแง่ลบเป็นธรรมดา

นายชัว ฮัค บิน นักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลล์ ลินช์ในสิงคโปร์ ระบุว่า รายได้ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันของมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย อาจลดลงแตะ 3.1% ของ GDP ในปี 2558 จากระดับปีที่แล้วที่ 5.9%

ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงจะทำให้จีนมีโอกาสในการวางแผน และรักษาระดับการเติบโตของ GDP ไว้ได้ตามเป้าหมายปีนี้อย่างต่ำ 7% ซึ่งลดลงจากเป้าหมาย 7.5% ในปี 2557 นอกจากนี้ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ก็ยังได้รับอานิสงส์จากการที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลงด้วยเช่นกัน

มาร์ค วิลเลียมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่แคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโต GDP ของไต้หวัน และเกาหลีใต้ไว้ประเทศละ 0.5% ในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลง

ทางด้าน แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลล์ ลินช์ เผยว่า สำหรับประเทศไทย ซึ่งเศรษฐกิจตกต่ำมาตลอดปีที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง และการส่งออกที่ซบเซา ราคาน้ำมันที่ถูกลงอาจช่วยให้ไทยเติบโตได้รวดเร็วขึ้น อัตราการเติบโตรายปีของไทยน่าจะเพิ่มขึ้น 0.45% ขณะที่ราคาน้ำมันลดลงทุกๆ 10%

สำหรับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ถูกลงทำให้ประธานาธิบดีคนใหม่สามารถคลี่คลายปัญหาการลดวงเงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันได้โดยไม่ต้องเจ็บตัว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุในรายงานประจำวันที่ 7 มกราคม โดยอ้างอิงคำกล่าวของนายวอลเทอร์ ซิมเมอร์แมน หัวหน้านักยุทธศาสตร์เชิงเทคนิคจาก United-ICAP ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ว่า หากราคาน้ำมันดิบร่วงลงต่ำกว่าระดับ 39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปแล้วละก็ "ราคาอาจจะลดลงไปได้ถึง 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเลยทีเดียว เมื่อใดที่ระดับราคาน้ำมันลงไปต่ำสุดจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่แปรปรวน ไม่ใช่การตัดสินใจบนพื้นฐานปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์-อุปทานแต่อย่างใด ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าราคาน้ำมันนั้นอยู่ในช่วงขาลงมากสักพักใหญ่แล้ว"

ด้านบริษัท อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ จำกัด ระบุในผลกระวิเคราะห์เศรษฐกิจ 45 ประเทศทั่วโลกประจำเดือนธันวาคมไว้ว่า ประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมากที่สุดน่าจะเป็นฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีข้างหน้า เฉลี่ยที่ 7.6% หากราคาน้ำมันร่วงลงสู่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียจะหดตัวลง 2.5% ในช่วงเวลาดังกล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานพลังงาน (DoE) บ่งชี้ว่า มูลค่าการนำเข้าพลังงานทั้งหมดของฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายนดีดตัวขึ้น 3.7% จากปี 2556 แตะที่ระดับ 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมคิดเป็น 55% และส่วนที่เหลืออีก 45% เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ

ต้นทุนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.49% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 5.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ต้นทุนของน้ำมันดิบนำเข้าปรับตัวขึ้น 2.34% แตะที่ 4.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

DoE ระบุว่า ต้นทุนสินค้านำเข้าที่ปรับตัวขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และปิโตรเลียมมากขึ้น

ขณะที่รายได้จากการส่งออกปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์พลอยได้ระหว่างกระบวนการผลิตในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2557 ดีดตัวขึ้น 11.72% มูลค่า 948.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีปริมาณเพิ่มขึ้นแตะ 8.645 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.51% ซึ่งแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมูลค่า 682.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.152 ล้านบาร์เรล และนำเข้าน้ำมันดิบเป็นมูลค่า 265.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,492 ล้านบาร์เรล

บทวิเคราะห์โดย อะลิโต มาลีนาโอ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ