In Focus"ไครเมีย" ประชามติสู่เส้นทางที่เลือกกลับสู่อ้อมอก "รัสเซีย"

ข่าวการเมือง Wednesday March 19, 2014 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ความวุ่นวายและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งปัญหาภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าถ้าไม่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งด้านดินแดน ก็จะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เรียกว่าเขตปกครองตนเอง ซึ่งแค่ชื่อก็จะบ่งบอกแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างจากส่วนอื่นๆของประเทศ และเมื่อใดก็ตามที่เกิดความไม่พอใจของประชาชนในพื้นที่หรือเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลกลาง ปัญหาก็มักจะลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ ระดับภูมิภาค จนกลายเป็นปัญหาของโลกไปในที่สุด

ดินแดนที่จะพูดถึงในวันนี้เป็นเขตปกครองที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจของโลก อย่างรัสเซีย โดยเขตปกครองตนเองที่กลายเป็นประเด็นร้อนการเมืองระหว่างประเทศครั้งล่าสุดที่สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก นั่นก็คือ “เขตปกครองตนเองไครเมีย" ของประเทศยูเครน

ทำความรู้จัก “ไครเมีย"

ไครเมียเป็นชื่อที่ใครหลายคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินกันเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2557 นี้เอง แต่กลับมีความสำคัญที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก เนื่องจากไครเมียได้กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกที่เลวร้ายที่สุดนับแต่ยุคสงครามเย็น

ไครเมียเป็นพื้นที่คาบสมุทรที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศยูเครน ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ไครเมียมีเมืองหลวงชื่อ ซิมเฟอโรโปล คาบสมุทรไครเมียตั้งอยู่ระหว่างทะเลดำและทะเลอาซอฟ โดยมีช่องแคบเคิร์ชเป็นพรมแดนที่คั่นกลางพื้นที่ทางตะวันออกของไครเมียออกจากรัสเซีย อุตสาหกรรมหลักของไครเมียคือ การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และเหมืองแร่

นับเป็นเวลาหลายศตรวรรษที่ไครเมียตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรีกและโรมัน จนกระทั่งกลายมาเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิอ็อตโตมาน หลังจากสิ้นสุดจักรวรรดิอ็อตโตมาน ไครเมียได้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียมาตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดินีแคเธอรีนในปี 2326 และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเรื่อยมาจนถึงปี 2497 ที่รัสเซียได้โอนไครเมียให้ไปอยู่ภายใต้การปกครองของยูเครน ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น โดยชาวรัสเซียบางส่วนมองว่าเป็นความผิดพลาด

ประชาชนใน “ไครเมีย"

ไครเมียมีประชากรราว 2.3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายรัสเซียและพูดภาษารัสเซีย ขณะที่ชนพื้นเมืองทาทาร์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมและเคยเป็นประชาชนส่วนใหญ่ในไครเมีย ได้กลายมาเป็นชนกลุ่มน้อย หลังจากที่ชาวทาทาร์จำนวนมากถูกโจเซฟ สตาลิน ผู้นำอดีตสหภาพโซเวียต เนรเทศออกจากไครเมียในปี 2487 ในข้อหาร่วมมือกับนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

นับตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตในปี 2534 ชาวทาทาร์ได้เริ่มเดินทางกลับเข้ามายังไครเมียอีกครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องกับชาวรัสเซียเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ในการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี 2544 พบว่าประชากร 58% เป็นชาวรัสเซีย ขณะที่ 24% เป็นชาวยูเครน เมื่อเทียบกับชาวทาทาร์ที่มีอยู่เพียง 12%

ไครเมียเป็นเขตปกครองตนเองภายในประเทศยูเครนตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสถานภาพที่รัสเซียให้การสนับสนุนเมื่อมีการให้คำมั่นที่จะส่งเสริมบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนในบันทึกความเข้าใจที่ได้มีการลงนามร่วมกับสหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศสในปี 2537 ไครเมียมีรัฐสภาของตัวเอง โดยนายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งตามความเห็นชอบของยูเครน

การที่ไครเมียมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแนบแน่นกับรัสเซียมายาวนานนับตั้งแต่อดีต อีกทั้งยังมีพรมแดนที่ใกล้ชิดจนเกือบจะเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งในไครเมียก็มีเชื้อสายรัสเซีย ซึ่งที่มีความผูกพันและสนับสนุนรัสเซียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่รัสเซียจะใช้โอกาสช่วงที่ยูเครนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งรัฐสภายูเครนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช ที่มีท่าทีสนับสนุนรัสเซีย ออกจากตำแหน่ง และระบุว่าการไม่สามารถดำเนินหน้าที่ของปธน.ยานูโควิชเป็นการ "คุกคามอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และอาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองครั้งใหญ่หลวง" ดังนั้น รัสเซียจึงอ้างความชอบธรรมในการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน โดยการเคลื่อนกำลังทหารจำนวนมากเข้ามายังพื้นที่ไครเมีย แม้ว่านานาชาติและประชาคมระหว่างประเทศจะออกมาตำหนิการกระทำดังกล่าว

ความจริงแล้ว ปัญหาความแตกแยกภายในประเทศยูเครนไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ แต่ย้อนหลังไปนับตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตในปี 2534 โดยยูเครนมีความแตกแยกกันระหว่างทางตะวันตกและตะวันออก ซึ่งสะท้อนถึงรากเหง้าทางภาษาและวัฒนธรรม

ในพื้นที่ทางตะวันออกและทางใต้ของยูเครน มีการใช้ภาษารัสเซียกันอย่างกว้างขวาง โดยในหลายพื้นที่ ซึ่งรวมถึงคาบสมุทรไครเมีย ประชาชนจะพูดภาษารัสเซียกันเป็นภาษาหลัก ขณะที่ภูมิภาคตะวันตก ซึ่งมีพรมแดนใกล้ชิดกับยุโรปนั้น จะมีภาษายูเครนเป็นภาษาหลัก

ความสำคัญทางยุทธศาสตร์

สาเหตุหนึ่งที่รัสเซียต้องการจะมีอำนาจเหนือไครเมียก็คือการที่ไครเมียเป็นที่ตั้งของ "เมืองเซวาสโตโปล" ซึ่งเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของยูเครน และยังเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อีกด้วย เมืองท่าเซวาสโตโปลนอกจากจะเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือยูเครนแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของกองเรือรบที่เรียกว่า Black Sea Fleet ซึ่งเป็นกองเรือรบที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต ภายหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต กองเรือรบดังกล่าวได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือกองเรือของรัสเซียและยูเครน ทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะอนุญาตให้กองทัพเรือรัสเซียเช่าที่ตั้งฐานทัพไปจนถึงปี 2560 แต่หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน ซึ่งนายวิคเตอร์ ยานูโควิช ที่มีท่าทีนิยมชมชอบรัสเซีย ได้ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของยูเครนในปี 2553 นั้น ยูเครนได้ตกลงที่จะขยายระยะเวลาเช่าพื้นที่ฐานทัพแก่รัสเซียออกไปอีก 25 ปี จนถึงปี 2585 เพื่อแลกกับการซื้อก๊าซราคาถูกจากรัสเซีย และจากการที่รัสเซียยังคงมีกองเรือรบอยู่ในเมืองเซวาสโตโปลอย่างต่อเนื่องนี้ ได้สร้างความตึงเครียดให้กับยูเครนและรัสเซีย

“ประชามติ" ที่ขัดใจชาวโลก แต่ได้ใจชาวรัสเซีย

หลังจากช่วงปลายเดือนก.พ.2557 ที่รัฐสภายูเครนมีมติถอดถอนประธานาธิบดีวิคตอร์ ยานูโควิช ออกจากตำแหน่งนั้น รัฐสภาของไครเมียก็ได้แต่งตั้งนายเซอร์ไก อัคซิโอนอฟ ที่สนับสนุนรัสเซีย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และลงมติให้ไครเมียแยกตัวออกจากยูเครน จึงนำมาซึ่งการจัดทำประชามติเพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนในไครเมียเห็นชอบกับการตัดสินใจดังกล่าว

รัฐสภาไครเมียให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องปกป้องชาวไครเมียให้รอดพ้นจากกลุ่มหัวรุนแรงที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจในยูเครนและกำลังมีท่าทีคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไครเมีย รวมทั้งสิทธิในการพูดภาษารัสเซีย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ของยูเครนระบุว่าการลงประชามติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การดำรงอยู่ของกองทัพรัสเซียในไครเมียและการผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั้น “มีความชอบธรรมทางกฎหมาย"

ในการลงประชามติครั้งนี้ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจะมีทางเลือก 2 ทาง ซึ่งก็คือ 1. ต้องการให้เขตปกครองตนเองไครเมียไปรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย หรือ 2. ต้องการให้ไครเมียมีสถานภาพเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน

ผลการลงประชามติครั้งนี้ออกมาสอดคล้องกับที่ทั่วโลกคาดกันไว้ เนื่องจากจำนวนประชากรกว่า 2 ล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งมีเชื้อสายรัสเซียนั้น ประชากรส่วนใหญ่จึงพากันเทใจไปที่ฝั่งรัสเซีย โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของเขตปกครองไครเมียเปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ผลการนับคะแนนแสดงให้เห็นว่า 96.77% ของชาวไครเมียที่ใช้สิทธิในครั้งนี้ ต้องการที่จะแยกตัวเองออกจากยูเครน และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย

ส่วนผลการลงประชามติของเมืองเซวาสโตโปล ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญและมีประชากร 3500,000 คนนั้น ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง 95.6% ต้องการรวมกับรัสเซีย โดยการลงมติของเมืองเซวาสโตโปลมีการนับคะแนนแยกต่างหากจากพื้นที่ส่วนอื่นๆของคาบสมุทรไครเมีย เนื่องจากเซวาสโตโปลมีสถานภาพเป็นเขตบริหารพิเศษ หลังจากนั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติของเมืองท่าเซวาสโตโปลของไครเมีย ก็มีมติที่จะร้องขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ในฐานะเขตบริหารพิเศษ

เสียงสะท้อนจากทุกมุมโลก

ผลกระทบที่จะตามมาและเรื่องราวความวุ่นวายต่างๆเกี่ยวกับไครเมียคงจะไม่ได้ยุติลงง่ายดายเหมือนผลประชามติที่ออกมา เนื่องจากชาติมหาอำนาจจากทั่วโลกล้วนแล้วแต่ไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติในครั้งนี้ โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐประกาศว่า สหรัฐจะไม่ยอมรับการลงประชามติของไครเมีย และให้คำมั่นว่าจะคว่ำบาตรรัสเซีย

ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ร่วมระหว่างนายเฮอร์แมน ฟาน รอมพาย ประธานสภายุโรป และนายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า การลงประชามติของไครเมียเป็นการกระทำที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ดังนั้นผลจากการลงประชามติ “จึงจะไม่เป็นที่ยอมรับ"

ด้านนายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า ไม่มีประเทศใดเชื่อถือการลงประชามติของไครเมีย และอังกฤษจะไม่ยอมรับการลงประชามติดังกล่าว

นอกจากนี้ นายโลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ประกาศในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า การลงประชามติของไครเมีย เพื่อแยกตัวออกมาจากยูเครนเป็นการกระทำที่ “นอกกฎหมาย" และ “ขัดต่อรัฐธรรมนูญของยูเครน"

แม้แต่ญี่ปุ่นก็ปฏิเสธผลการลงประชามติในไครเมีย โดยเรียกร้องให้รัสเซียเคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

ผลัดกัน “รุกคืบ" คนละก้าว หลังผลประชามติ

ในทันทีที่ทราบผลการจัดทำประชามติในไครเมีย รัฐสภาของไครเมียได้ออกมาประกาศอิสรภาพของคาบสมุทรไครเมีย ในฐานะสาธารณรัฐไครเมียที่มีความเป็นอิสระ พร้อมกับส่งเรื่องขอเข้าร่วมเป็นสาธารณรัฐแห่งใหม่ของสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง รัฐสภาไครเมียก็ตัดสินใจที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ประกาศโดยรัฐสภายูเครนหลังวันที่ 21 ก.พ. โดยระบุว่าไครเมียจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดขึ้นก่อนวันที่ 21 ก.พ. จนกว่าไครเมียจะกำหนดกฎระเบียบของตนเอง และระบุเพิ่มเติมว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติของไครเมียจะยังคงทำหน้าที่ตามวาระไปจนถึงเดือนก.ย.2558

รัสเซียก็ออกมารับลูกจากไครเมียอย่างรวดเร็ว เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศรับรองไครเมียในฐานะรัฐอิสระ โดยคำประกาศระบุว่า ประชาชนชาวไครเมียได้แสดงเจตจำนงของตนเอง ในการลงประชามติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวไครเมียต้องการแยกตัวออกจากยูเครน พร้อมกันนี้ยังแถลง “สาธารณรัฐไครเมียได้รับการรองอำนาจอธิปไตยและเป็นรัฐอิสระ โดยเมืองเซวาสโตโปลจะมีสถานะเป็นเขตบริหารพิเศษของรัสเซีย"

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวเปิดเผยว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่รัสเซีย 7 รายและเจ้าหน้าที่ยูเครน 4 ราย ซึ่งรวมถึง อดีตประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิชของยูเครน โดยการคว่ำบาตรครั้งนี้จะเป็นในรูปแบบของการอายัดทรัพย์สินและการห้ามการเดินทางของบุคคลดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการคว่ำบาตรในวงจำกัด

ทางด้านสหภาพยุโรปหรืออียูก็ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงประชามติในไครเมียจำนวน 21 ราย โดยระบุว่าในแถลงการณ์หลังจากประชุมกับประเทศสมาชิก 28 ประเทศว่า “อียูจะใช้มาตรการเข้มงวดในวันนี้ ต่อกลุ่มบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการคุกคามบูรณภาพแห่งดินแดน อำนาจอธิปไตย และอิสรภาพของยูเครน รวมถึงกลุ่มบุคคลและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง"

แม้ว่าทั่วโลกจะได้เห็นภาพชาวรัสเซียในไครเมียที่ออกมาแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองตามท้องถนนหลังจากที่ทราบผลการลงประชามติ แต่ภาพแห่งความสุขที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังถึงวันที่ดีกว่าของประชาชนเหล่านั้นอาจจะคงอยู่ไม่นาน เพราะสถานการณ์เกี่ยวกับไครเมียยังไม่นิ่ง และคาดกันว่าไครเมียยังต้องเผชิญกับความยุ่งยากต่อไป เนื่องจากชาติมหาอำนาจดูเหมือนจะไม่ย่นย่อที่จะหาทางจัดการกับรัสเซียที่แข็งขืนฝืนมติของประชาคมโลกในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับไครเมียในครั้งนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากการที่รัสเซียเป็นถึงหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลกที่มีแสนยานุภาพทางทหารเป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่ประเทศไก่กาทั่วไป ขณะที่อีกฝ่ายต่างก็เป็นประเทศบิ๊กเบิ้มของโลก เราก็ได้แต่หวังว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะไม่นำไปสู่การเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดสงคราม เพราะคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นประชาชนตาดำๆในไครเมียนั่นเอง!!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ