In Focusย้อนรอยความขัดแย้งบนฉนวนกาซา จากน้ำผึ้งหยดเดียวที่อาจลุกลามทั่วคาบสมุทรไซนาย

ข่าวการเมือง Wednesday July 16, 2014 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฉนวนกาซา พื้นที่พิพาทระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ที่สามารถย้อนประวัติศาสตร์ไปได้ยาวนานหลายทศวรรษ แต่ในปัจจุบัน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงจากทั้งสองฝ่ายอยู่เป็นระยะ และน่าเสียดายที่สถานการณ์ดังกล่าวดูเหมือนว่า จะยังไม่มีวี่แววที่จะคลี่คลายลงอย่างแท้จริง แม้ว่าที่ผ่านมาได้มีการกำหนดข้อตกลงด้านสันติภาพมาแล้วมากมาย แต่ก็สามารถระงับปัญหาความขัดแย้งได้เพียงไม่นาน ก่อนที่ความรุนแรงจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนไปมาอย่างไร้ทางออก

ล่าสุด มีรายงานจากฝั่งปาเลสไตน์ว่า มีประชาชนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 192 คนจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในช่วง 8 วันที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาสที่ยิงจรวดเข้าใส่อิสราเอล ในขณะที่ชาวอิสราเอลอย่างน้อย 4 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

  • ย้อนรอยการเมืองการปกครองภายในฉนวนกาซา

เริ่มแรกเมื่อปี 2491 ฉนวนกาซาถูกปกครองโดยรัฐบาล All-Palestine ซึ่งแต่งตั้งโดยกลุ่มประเทศสันนิบาตอาหรับ เพื่อกีดกันอิทธิพลของจอร์แดนในดินแดนปาเลสไตน์ อย่างไรก็ตามรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆนอกเหนือจากกลุ่มสันนิบาตอาหรับ ซึ่งนั่นรวมถึงอิสราเอลด้วย เนื่องจากถูกมองว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของอียิปต์ จนกลายเป็นประเด็นจุดชนวนปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่าย และนำไปสู่ข้อตกลงสงบศึกปี 2492 ซึ่งได้กำหนดเส้นแบ่งอาณาเขตระหว่างกาซาและอิสราเอลตามที่ปรากฎให้เห็นในทุกๆวันนี้

หลังจากนั้นในปี 2510 อิสราเอลยึดอำนาจการปกครองบนกาซาจากอียิปต์ใน “สงครามหกวัน" จนทำให้อิสราเอลมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่าหลายเท่าตัว ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่รู้สึกถูกกดขี่จากอิสราเอลเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเข่นฆ่าอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปจนถึงการกักตัว การทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัย บังคับย้ายถิ่นที่อยู่ หรือแม้แต่ขับไล่ประชาชนออกนอกประเทศ นอกจากนี้ยังมีการบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องกลายเป็นแรงงานชั้นล่าง เมื่อเวลาผ่านไปและสถานการณ์ก็ดูจะไม่มีท่าทีว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ “อินติฟาเฎาะฮ์" ครั้งที่ 1 (First Intifada) ในปี 2530 อันรุนแรงและยาวนานถึง 6 ปี และมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเป็นเรือนพัน

อย่างไรก็ตามในปี 2536 หรือกว่า 20 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลและองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization) ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงออสโล ซึ่งเปิดโอกาสให้องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) นำโดยนายยัสเซอร์ อาราฟัต ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของปาเลสไตน์ มีอำนาจปกครองฉนวนกาซาบนภาคพื้นดิน โดยอิสราเอลมีอำนาจเหนือน่านน้ำ อากาศ และบริเวณชายเดน (ยกเว้นช่วงที่ติดกับอียิปต์) ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ปาเลสไตน์มีบทบาทปกครองฉนวนกาซาอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ร้อนแรงบนดินแดนแห่งนี้ไม่ได้จบลงอย่างง่ายดาย โดยเมื่อช่วงกลางปี 2543 นายเอเรียล ชารอน ว่าที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในสมัยนั้น ได้เดินทางเยือน “เนินวิหาร" (Temple Mount) ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับชาวยิว แต่ว่าที่นายกฯรายนี้ไม่ได้มาแบบธรรมดา เพราะเขาได้ประกาศก้องว่า เนินวิหารแห่งนี้ต้องอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของอิสราเอลตลอดไป จนทำให้ชาวปาเลสไตน์ รวมถึงชาวปาเลสไตน์ในกาซา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า อิสราเอลมีเจตนาฝ่าฝืนข้อตกลงสันติภาพที่ได้ร่วมลงนามไว้ อันเป็นจุดกำเนิดของอินติฟาเฎาะฮ์ ครั้งที่ 2 ขณะที่ทางอิสราเอลมองว่า อินติฟาเฎาะฮ์ครั้งนี้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเยือนวิหารศักดิ์สิทธิ์ โดยอินติฟาเฎาะฮ์ครั้งที่ 2 ใช้เวลายาวนานถึงปี 2548 และสิ้นสุดลงเมื่อฝั่งอิสราเอลประกาศหยุดก่อความรุนแรง และพร้อมเดินหน้าสู่แผนสร้างสันติภาพในภูมิภาค เริ่มจากการถอนรากถอนโคนทุกสิ่งที่เป็นอิสราเอลออกจากฉนวนกาซาทั้งหมด

  • อาณาเขตฉนวนกาซา

ว่ากันด้วยเรื่องภูมิศาสตร์ ด้านตะวันตกของฉนวนกาซาเป็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะที่ทางตะวันออกติดอิสราเอล และทิศใต้ติดประเทศอียิปต์ โดยมีการล้อมรั้วตลอดแนวชายแดนที่ติดกับอิสราเอล และก่อกำแพงคอนกรีตและเหล็กกล้าในช่วงที่มีอาณาเขตติดกับอียิปต์

  • กาซาภายใต้การปกครองของฮามาส

การเมืองในปาเลสไตน์เริ่มก่อเป็นรูปเป็นร่าง โดยได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2549 ซึ่งกลุ่มฮามาส ที่ถูกชาติตะวันตกและอียิปต์มองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย สามารถคว้าชัยชนะเหนือกลุ่มฟาตาห์อย่างถล่มทลาย

แต่ด้วยแรงกดดันจากต่างชาติ รวมถึงชาติตะวันตกที่ได้ระงับความช่วยเหลือ อีกทั้งอิสราเอลก็ได้ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ กลุ่มฮามาสจึงได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับกลุ่มฟาตาห์

พรรคฮามาส และพรรคฟาตาห์ สองกลุ่มการเมืองใหญ่ของปาเลสไตน์ เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่สามารถแบ่งอำนาจการปกครองได้ จนก่อให้เกิดสงครามกาซา (2550) ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลให้กลุ่มฮามาสมีอำนาจเหนือฉนวนกาซา และกลุ่มฟาตาห์มีฐานอยู่ในเขตเวสต์แบงก์

จนล่าสุดในเดือนมิถุนายนของปีนี้ พรรคฮามาส และพรรคฟาตาห์ ที่มีปัญหาขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน ได้ประกาศจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมอีกครั้ง ภายใต้การนำของประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส จากพรรคฟาตาห์ และเตรียมเปิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในอนาคต ซึ่งทำให้ทางอิสราเอลไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นประกาศเลื่อนเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์ เนื่องจากในสายตาของอิสราเอลแล้ว กลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการทำลายอิสราเอล อีกทั้งประกาศกร้าวให้ปธน.มาห์มุดเลือกระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส พร้อมออกมาเรียกร้องให้สหรัฐและนานาชาติร่วมประณามกลุ่มฮามาสอีกด้วย

* หรือน้ำผึ้งหยดเดียวจะกลายเป็นอินติฟาเฎาะฮ์ ครั้งที่ 3

หลังจากสองพรรคใหญ่ได้ออกมาประกาศร่วมงานกันอีกครั้ง สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงอยู่แล้ว ก็ได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุวัยรุ่นอิสราเอลถูกลักพาตัวไปถึง 3 คน ระหว่างที่กำลังเดินทางออกจากโรงเรียนในเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์เพื่อกลับบ้าน ซึ่งหนึ่งในนี้เป็นพลเมืองอเมริกัน 1 คน โดยทางนายกรัฐมนตรีเบนยามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล ได้กล่าวโทษปาเลสไตน์ว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลักพาตัวนี้ พร้อมลั่นว่ากลุ่มฮามาสต้องชดใช้ในสิ่งที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง อิสราเอลจึงได้บุกฉนวนกาซา อันเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาส เพื่อจับกุมกลุ่มฮามาสหลายร้อยคน ตลอดจนสั่งปิดสถาบันต่างๆและทำลายบ้านเรือน เช่นเดียวกับการโจมตีทางอากาศ ซึ่งอิสราเอลอ้างว่าเป็นการตอบโต้การส่งจรวดโจมตีจากฝั่งกาซาเอง จนสามารถพบศพวัยรุ่นทั้งสามได้ในที่สุด แม้ว่าประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาสได้ออกมาประณามการลักพาตัวดังกล่าว แต่สมาชิกรัฐบาลปาเลสไตน์ส่วนใหญ่กลับออกมาวิพากษ์วิจารณ์การโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม และไม่เห็นชอบด้วยกฎหมายจากฝั่งอิสราเอล

อีกไม่กี่วันให้หลัง วัยรุ่นชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งได้ถูกลักพาตัวขณะที่กำลังเดินทางไปมัสยิดแห่งหนึ่ง โดยในอีกไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง ศพของเขาถูกพบในป่าแห่งหนึ่งในเมืองเยรูซาเล็ม พร้อมร่องรอยการเผาและทำร้ายร่างกายทั้งเป็น ซึ่งบ่งชี้ไปในลักษณะของการฆ่าเพื่อเอาคืน เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความโกรธชังแก่ชาวปาเลสไตน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากอิสราเอลมีความเป็นสองมาตรฐาน ปฏิบัติกับผู้ต้องสงสัยชาวยิวไม่รุนแรงเหมือนกับที่ทำกับชาวกาซา ขณะที่กลุ่มฮามาสกล่าวโทษว่าชาวอิสราเอลเป็นสาเหตุของความโหดร้ายครั้งนี้ จนก่อให้เกิดความโกลาหลระหว่างทั้งสองฝั่ง และมีการแลกเปลี่ยนการโจมตีทางจรวดและอากาศ ระหว่างกลุ่มฮามาสจากฝั่งกาซาและอิสราเอล ที่ต่างยิงโต้ตอบกันไปมา พร้อมอ้างความชอบธรรมของฝ่ายตน

* ปฏิบัติการ Operation Protective Edge

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา อิสราเอลได้ประกาศใช้มาตรการโจมตีทางอากาศเต็มรูปแบบซึ่งเรียกว่า Operation Protective Edge ในพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อโจมตีกลุ่มฮามาส ที่กระหน่ำยิงจรวดโจมตีดินแดนของอิสราเอลอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์

ปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลได้โจมตีเป้าหมายมากกว่า 1,000 จุดในฉนวนกาซา ขณะที่ในบรรดาผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์นั้น 2 ใน 3 เป็นพลเรือน ซึ่งรวมถึงเด็ก ผู้หญิง และคนชรา เรียกได้ว่าครั้งนี้อิสราเอลจัดเต็มแบบไม่สนเสียงรอบข้าง ตามที่นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลกล่าวว่า อิสราเอลจะดำเนินการอย่างแข็งขัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูความสงบในระยะยาว ขณะที่จัดการกับกลุ่มฮามาสและองค์กรก่อการร้ายอื่นๆ อย่างรุนแรง

ด้านกลุ่มฮามาสกล่าวว่า ทางกลุ่มจะยอมรับการหยุดยิงก็ต่อเมื่อมีอะไรแลกเปลี่ยน เช่น การรื้อฟื้นการสงบศึกเมื่อปี 2555 และการปล่อยตัวนักโทษที่อิสราเอลจับตัวไปในช่วงการปราบปรามเมื่อเร็วๆนี้

* เสียงวิตกจากนานาชาติพร้อมข้อเสนอสงบศึกจากผู้ปกครองเก่า

หลังจากที่คอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ในที่สุดสภาความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์เรียกร้องให้มีการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซา เพื่อฟื้นฟูความสงบสุข และนำสัญญาหยุดยิงเมื่อเดือนพ.ย. 2555 กลับมาใช้ใหม่

ด้านพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ถึงแม้ยืนยันถึงสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง แต่ก็ได้เสนอที่จะเข้ามาช่วยในการเจรจาสงบศึก โดยจอช เออร์เนสต์ โฆษกของทำเนียบขาวกล่าวว่า สหรัฐอเมริกาเต็มใจที่จะผลักดันความสัมพันธ์ในภูมิภาค เพื่อนำมาซึ่งการยุติการหยุดยิงในฉนวนกาซา

แต่ไฮไลท์ของงานอยู่ที่อียิปต์ ผู้ปกครองเก่าของฉนวนกาซา ซึ่งได้ออกตัวเสนอข้อตกลงสงบศึกแก่ทั้งสองฝ่ายเมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดยข้อเสนอที่ทางอียิปต์ผลักดันในครั้งนี้ ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการสู้รบในบริเวณกาซา รวมทั้งเปิดจุดข้ามแดนบริเวณชายแดน เมื่อสถานการณ์มีเสถียรภาพแลัว ตลอดจนการจัดการเจรจาของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

* เสียงตอบรับข้อตกลงสงบศึก

ไม่นานหลังจากที่ได้รับทราบถึงข้อเสนอของอียิปต์ กลุ่มฮามาสกลับมองเป็นเรื่องขบขัน โดยนายโอซามา ฮัมดาน โฆษกกลุ่มฮามาส กล่าวว่า "เราไม่ได้รับเอกสารชี้แจงจากทางอียิปต์ ซึ่งหมายความว่า การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายไปที่สื่อมวลชน โดยไม่ได้เป็นแนวคิดริเริ่มทางการเมืองแต่อย่างใด" ขณะที่อิสราเอลได้ตอบรับข้อเสนอให้ยุติการสู้รบกับกลุ่มหัวรุนแรงในบริเวณกาซาตามข้อเสนอของดังกล่าว พร้อมกับสั่งการให้กองทัพหยุดการสู้รบเมื่อเวลา 9.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 15 กรกฏาคม 2557

อย่างไรก็ตาม การหยุดยิงฝ่ายเดียวจากอิสราเอลนั้นช่างมีอายุสั้นนัก เนื่องจากหลังประกาศหยุดยิงเพียง 6 ชั่วโมง กองทัพอิสราเอลกลับมาเดินหน้าปฏิบัติการทางอากาศเพื่อโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอีกครั้ง เมื่อทางกลุ่มฮามาสยังคงยิ่งจรวดเข้าใส่อิสราเอลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

* ความรุนแรงที่ยังโชกโชน

ในการปะทะกันครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่ของปาเลสไตน์เปิดเผยว่า มีประชาชนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 192 คนจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลนับตั้งแต่การประกาศปฏิบัติการ Operation Protective Edge ขณะที่มีรายงานว่า มีชาวอิสราเอลอย่างน้อย 4 คนได้รับบาดเจ็บรุนแรง แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากอิสราเอลมีเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่เหนือกว่า

ความขัดแย้งบนคาบสมุทรไซนายนี้แลดูจะไร้หนทางคลี่คลายอย่างแท้จริง เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างไม่ย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่า ความรุนแรงที่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงนั้น มีแต่จะทำให้ความรุนแรงทวีคูณขึ้นไปมากยิ่งขึ้น สุดท้ายผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับไปตกอยู่กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งไม่สามารถนอนหลับรอรับเช้าวันใหม่อันสวยงามและสันติสุขได้เหมือนประชาชนผู้โชคดีในส่วนอื่นๆของโลก

สุดท้ายนี้ In Focus หวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถเดินหน้าสู่ความสงบสุขภายในภูมิภาค เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป สำนักข่าวอินโฟเควสท์จะคอยติดตามสถานการณ์ และรายงานข่าวอัพเดทอยู่เป็นระยะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ