Analysis: อานิสงส์ของ Brexit ต่อพรรครัฐบาลออสเตรเลียก่อนการเลือกตั้งเปิดฉาก

ข่าวการเมือง Monday June 27, 2016 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจล่าสุดพบว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนในประเทศแซงหน้าพรรคฝ่ายค้านในช่วงไม่ถึงสัปดาห์ ก่อนที่การเลือกตั้งระดับประเทศจะเปิดฉากขึ้น

ทั้งนี้ ผลการสำรวจความเห็นชาวออสเตรเลีย 2 ครั้งก่อนหน้านี้ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคเสรีนิยม และพรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคแรงงานนั้นมีคะแนนความนิยมเท่ากัน อย่างไรก็ตาม การสำรวจประชาชนจำนวนกว่า 1,800 คนครั้งล่าสุดพบว่า ฝ่ายรัฐบาลได้รับความพึงพอใจให้เป็นพรรคอันดับ 1 อยู่ที่ 51% สูงที่สุดในรอบ 14 สัปดาห์ แซงหน้าคู่แข่งอย่างพรรคแรงงานซึ่งอยู่ที่ 49% ในการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในระบบสองพรรคใหญ่

การสำรวจล่าสุดนี้มีขึ้นในช่วงเดียวกับการประกาศผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักรซึ่งทำให้ประชาชนในออสเตรเลียเริ่มตื่นตัวกับผลกระทบที่ประเทศจะได้รับ และมองหาพรรคการเมืองที่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีกว่า

ด้านนายมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ถือโอกาสนี้ชักจูงให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้ฝั่งรัฐบาลที่บริหารงานด้วย "มือแห่งความมั่นคง" ในขณะที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่างนายบิลล์ ชอร์ทเทน ก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการหาเสียงเช่นกันโดยกล่าวว่า พรรคของตนเองสามารถนำมาซึ่ง "ความเป็นหนึ่งและเสถียรภาพ" โดยอ้างถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งในพรรคเสรีนิยมของฝั่งรัฐบาลที่ส่งผลให้นายเทิร์นบูลล์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายโทนี แอบบ็อตต์เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผลสำรวจของนิวส์โพลล์ยังระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์ Brexit ได้แก่ กลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็กเช่นพรรคกรีนแห่งออสเตรเลียที่มีจำนวนผู้นิยมเลือกให้เป็นพรรคอันดับ 1 นั้น ร่วงลงถึง 9% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 3 ปี เช่นเดียวกับพรรคอิสระอื่นๆที่ได้รับคะแนนความนิยมน้อยลงเช่นกัน

แอนดริว วอลเตอร์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นมองว่า พรรครัฐบาลอาจเป็นฝ่ายที่ค่อนข้างได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์ Brexit เนื่องจากผู้ที่ "เสื่อมศรัทธาในพรรคใหญ่" ที่เดิมตั้งใจลงคะแนนเสียงให้พรรคอิสระอาจหันมาเทคะแนนให้พรรคการเมืองหลักอีกครั้ง เพราะต้องการความมั่นใจในเสถียรภาพในอนาคตอันใกล้

วอลเตอร์กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ Brexit จะไม่ได้ทำให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ไม่ได้ชื่นชอบพรรคใหญ่พรรคใดเป็นพิเศษเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ แต่ก็มีแนวโน้มที่พรรครัฐบาลจะได้รับคะแนนความนิยมในอันดับ 2 มากขึ้น"

จากการสำรวจของนิวส์โพลล์พบว่า ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง 65% ไม่มีท่าทีว่าจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ ในขณะที่อีก 35% อาจมีพรรคใหม่ในใจก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศจะเปิดฉากขึ้นในวันเสาร์ที่ 2 ก.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าฝั่งรัฐบาลจะพยายามชักจูงให้ประชาชนเลือกพรรคเพื่อครองอันดับ 1 แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงไม่เชื่อในนโยบายหาเสียงที่เน้นการสร้างงานและทำให้ออสเตรเลียเติบโตของนายเทิร์นบูลล์ โดยผู้มีสิทธ์ลงคะแนนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถทำตามที่กล่าวไว้ได้

ผลสำรวจของสถาบันออสเตรเลียพบว่า ประชาชนในประเทศใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการเลือกฝั่งที่ตนเองต้องการลงคะแนนเสียงให้ โดยฝั่งรัฐบาลภายใต้การนำของนายเทิร์นบูลล์ได้รับความเชื่อมั่นราว 33% ว่า จะสามารถสร้างงานและขับเคลื่อนประเทศได้ตามนโยบายที่ให้ไว้ ในขณะที่พรรคแรงงานได้คะแนนที่ 31% ในหัวข้อเดียวกันถึงแม้ว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่ปรากฏอยู่ในคำโฆษณาของพรรคก็ตาม

ทั้งนี้ ความนิยมของนายเทิร์นบูลล์สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยต่อไปยังคงอยู่ในจุดตกต่ำที่สุดซึ่งไม่ต่างกับผู้นำฝ่ายค้านที่มีคะแนนความนิยมต่ำกว่านายเทอร์นบูลล์อยู่อีกถึง 15 จุด

การเลือกตั้งของออสเตรเลีย จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ก.ค.นี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ