"ทรัมป์" VS "คลินตัน" มวยถูกคู่ ศึกช้างชนลา ชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ

ข่าวการเมือง Wednesday July 27, 2016 19:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะนี้เสียงปี่กลองในศึกเลือกตั้งของสหรัฐกำลังดังกระหึ่มเร่งเร้าบรรยากาศทางการเมืองให้คึกคักขึ้น เราคงไม่สามารถปฏิเสธว่าสหรัฐถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง สิ่งใดที่เกิดขึ้นในสหรัฐย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดั้งนั้นการเลือกตั้งผู้นำของสหรัฐจึงเป็นสิ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ที่จริงแล้ว สหรัฐเป็นประเทศเสรีที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเปิดกว้างสำหรับทุกคน โดยชาวอเมริกันที่เกิดในสหรัฐ หากต้องการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ย่อมสามารถทำได้ โดยเป็นผู้สมัครอิสระ และพรรคการเมืองในสหรัฐก็มีเป็นจำนวนมากที่สามารถส่งตัวแทนไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

แต่ที่ชาวสหรัฐและชาวโลกจับจ้องอยู่คือตัวแทนของพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด 2 พรรคในสหรัฐ คือพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดที่ใช้สัญลักษณ์เป็นช้าง และพรรคเดโมแครต ซึ่งใช้สัญลักษณ์เป็นลา โดยทั้ง 2 พรรคต่างก็ได้ตัวแทนพรรคมาประชันกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้แล้ว

ทั้งนี้ คู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ ได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีวัย 69 ปี เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจแวดวงบันเทิง รวมทั้งเป็นเจ้าของการจัดประกวดมิส ยูนิเวิร์ส จากค่ายรีพับลิกัน และฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจากค่ายเดโมแครต

ทั้งทรัมป์และคลินตันจัดเป็นมวยถูกคู่ โดยทั้งสองมีบุคลิกแตกต่างกันแบบสุดขั้ว ระหว่างนักธุรกิจชายปากกล้า ซึ่งถือเป็นคนนอกแวดวงการเมือง ที่พร้อมสร้างศัตรูกับคนรอบข้าง กับนักการเมืองสตรี ดีกรีอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและวุฒิสมาชิกที่มีบุคลิกสุขุมคัมภีรภาพ

*โดนัลด์ ทรัมป์: นักธุรกิจแมว 9 ชีวิต

โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.1946 ในเขตควีนส์โบโร นครนิวยอร์ก เป็นลูกคนที่ 4 ของเฟรด ทรัมป์ เจ้าของบริษัทพัฒนาที่ดิน เอลิซาเบธ ทรัมป์ แอนด์ ซัน ปัจจุบันคือทรัมป์ ออร์แกไนเซชั่น และนางแมรี แอนน์

ในวัยเด็ก เด็กชายทรัมป์เข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนเอกชนคิว-ฟอเรสต์ในย่านจาเมกา เอสเตตส์ ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของคนมีฐานะในควีนส์โบโร แต่เมื่ออายุ 13 ปี ทรัมป์ถูกพ่อของเขาส่งไปอยู่ที่โรงเรียนทหาร นิวยอร์ก มิลิทารี อคาเดมี เนื่องจากเขาเริ่มประพฤติตัวไม่เหมาะสม

ต่อมา ทรัมป์เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮมเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะไปเข้าเรียนที่โรงเรียนธุรกิจวาร์ตันที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย หลังจบการศึกษา ทรัมป์เริ่มทำงานให้กับบริษัท เอลิซาเบธ ทรัมป์ แอนด์ ซัน ของพ่อของเขา

ทรัมป์เริ่มต้นทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในเมืองแมนฮัตตัน ซึ่งผลงานชิ้นแรกของเขาคือการแปลงสภาพโรงแรมเก่า คอมโมดอร์ โฮเทล ให้กลายเป็นโรงแรม แกรนด์ ไฮแอท นิวยอร์ก ที่มีความทันสมัย และสร้างทรัมป์ ทาวเวอร์ อาคารที่พักอาศัยสูง 68 ชั้น และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งไปสร้างโรงแรมในอินเดีย, ตุรกี และฟิลิปปินส์

ต่อมาทรัมป์ยังขยับขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมการบิน และธุรกิจกาสิโนในแอตแลนติก ซิตี

ทรัมป์ยังสร้างอาณาจักรธุรกิจบันเทิงขึ้นมา โดยนับตั้งแต่ปี 1996 ถึงปี 2015 เขาเป็นเจ้าของการจัดงานประกวดนางงามเวทีต่างๆ ทั้ง มิส ยูนิเวิร์ส, มิส ยูเอสเอ และ มิส ทีน ยูเอสเอ บิวตี้

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเปิดตัวรายการเรียลิตี้ "ดิ แอพเพรนทิซ" (The Apprentice) ทางช่องเอ็นบีซี ซึ่งเป็นรายการที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวไฟแรงในวัยทำงาน มาช่วงชิงฟาดฟันความเป็นสุดยอดคนทำงาน ซึ่งผู้ชนะจะได้ตำแหน่งงานบริหารในทรัมป์ ออร์แกไนเซชั่น โดยทรัมป์ลงทุนเป็นพิธีกรเอง ซึ่งรายการนี้จัดต่อเนื่องถึง 14 ซีซั่น

ทรัมป์ยังเป็นนักเขียนหนังสือมือทองระดับเบสต์เซลเลอร์หลายเล่ม อาทิ Thinking Big Kickass หรือ คิดใหญ่แบบโดนัลด์ทรัมป์, Think Like a Champion หรือ คิดอย่างผู้ชนะ คิดอย่างทรัมป์ และ Trump 101 The Way of Success หรือ ทรัมป์ 101 หนทางสู่ความสำเร็จ

ในปี 1988 ทรัมป์เข้าซื้อกิจการทัจ มาฮาล กาสิโน จากเมิร์ฟ กริฟฟิน เจ้าพ่อสื่อชาวอเมริกัน และบริษัท รีสอร์ต อินเตอร์เนชันแนล ทำให้เกิดหนี้มหาศาล และในปี 1989 ทรัมป์ก็ไม่สามารถจ่ายหนี้เงินกู้ได้ทันเวลา แม้จะสามารถขอผ่อนผันเลื่อนการจ่ายหนี้ออกไปได้ แต่สุดท้ายในปี 1991 หนี้ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ทรัมป์ต้องประสบภาวะล้มละลาย

อย่างไรก็ดี กิจการทัจ มาฮาล กาสิโน ก็ฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายปี 1991 แต่ทรัมป์ต้องโอนหุ้นของกาสิโนแห่งนี้ 50% ให้แก่เจ้าหนี้เพื่อแลกกับการปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังต้องขายสายการบินทรัมป์ ชัตเติล และเรือยอชต์ทรัมป์ ปรินเซสด้วย

ฐานะการเงินของทรัมป์ดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากบิดาของเขาเสียชีวิตในปี 1999 โดยทิ้งพินัยกรรมแบ่งมรดกที่มีประมาณ 250-300 ล้านดอลลาร์แก่ลูกทั้ง 4 คน

ในปี 2001 ทรัมป์ดำเนินการสร้างทรัมป์เวิลด์ทาวเวอร์เป็นอาคารที่อยู่อาศัย 72 ชั้น อยู่ตรงข้ามสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ เขายังเริ่มสร้างทรัมป์เพลซ กลุ่มอาคารหลายหลังริมแม่น้ำฮัดสัน และทรัมป์ยังเป็นเจ้าของพื้นที่การค้าในทรัมป์อินเตอร์เนชันแนลแอนด์ทาวเวอร์ อาคาร 44 ชั้น รวมทั้งยังเป็นเจ้าของพื้นที่หลายล้านตารางฟุตในแมนฮัตตัน

นิตยสารฟอร์บส์ประเมินว่าทรัพย์สินของทรัมป์มีมูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ทรัมป์อ้างว่ามูลค่าทรัพย์สินของเขาสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์

ทรัมป์ประกาศชูคำขวัญที่จะทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

*นโยบายทรัมป์ ขายฝัน หรือเอาสะใจ

ทรัมป์เสนอนโยบายในการหาเสียงแบบแหวกแนว โผงผาง ขวานผ่าซาก ซึ่งหลายเรื่องก็เรียกแขก และเรียกก้อนอิฐ มากกว่าจะได้รับเสียงชื่นชม

นโยบายที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก คือ การห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศสหรัฐชั่วคราว จนกว่าสหรัฐจะมีมาตรการรับมือผู้อพยพอย่างเหมาะสม

นโยบายอีกอย่างที่เรียกเสียงฮือฮาไม่เบาคือการสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกความยาวประมาณ 2,000 ไมล์ เพื่อป้องกันผู้อพยพผิดกฎหมายจากเม็กซิโกลักลอบเข้ามายังสหรัฐ และเขาจะให้รัฐบาลเม็กซิโกเป็นผู้จ่ายเงินค่าสร้างกำแพงนี้ ซึ่งคาดว่ามากกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งประธานาธิบดีเม็กซิโกก็ตอบทันควันแล้วว่า จะไม่มีทางจ่ายเงินก้อนนี้ นโยบายนี้ถึงกับทำให้พระสันตะปาปาฟรานซิสออกมาตำหนิทรัมป์ว่า ไม่ใช่การกระทำของผู้ที่ชื่อว่าเป็นคริสเตียน แต่ทรัมป์ก็สวนหมัดกลับไปว่าเป็นเพราะพระสันตะปาปาไม่รู้ถึงพิษภัยที่สหรัฐได้รับจากการลักลอบนำเข้ายาเสพติดและอาวุธผ่านทางเม็กซิโก

นอกจากนั้น เขายังเสนอให้มีการส่งตัวโรบินฮู้ด หรือผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสหรัฐ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 11 ล้านคน กลับประเทศ และแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยุติการให้สัญชาติอเมริกันแก่เด็กทารกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ประกาศเดินหน้าถล่มกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในอิรัก โดยเฉพาะการโจมตีบ่อน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของ IS ส่วนหน้าที่การโจมตีกลุ่ม IS ในซีเรีย ทรัมป์จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลซีเรีย ขณะที่เขาขานรับการที่รัสเซียให้การสนับสนุนด้านการทหารในซีเรีย

ทรัมป์ประกาศปิดรับผู้อพยพจากซีเรีย แต่เสนอให้ตั้งโซนปลอดภัยขึ้นในซีเรีย ซึ่งสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน แต่จะให้นานาชาติเป็นผู้สร้างโซนปลอดภัยดังกล่าว และส่งทหารเข้าคุ้มครองความปลอดภัย

นอกจากนี้ ทรัมป์กล่าวว่า เขาจะต่อสู้เครือข่ายก่อการร้าย โดยนำวิธีสอบสวนผู้ต้องสงสัยที่หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) เคยใช้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งรวมถึง วิธีการวอเตอร์บอร์ดดิงที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการทรมานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะวิธีดังกล่าวเป็นการจับผู้ต้องสงสัยมัดมือมัดเท้าและนอนราบติดกับแผ่นกระดาน ก่อนจะนำผ้าบางๆ มาปิดใบหน้าและเทน้ำใส่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ต้องสงสัยหายใจไม่ออกเช่นเดียวกับการถูกจับกดน้ำ โดยทรัมป์ย้ำว่าเขาจะนำวิธีสอบสวนอื่นๆ ที่ร้ายแรงกว่านี้กลับมาใช้ใหม่ด้วย

ทรัมป์ยังเสนอให้เปิดเรือนจำในอ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบาต่อไป พร้อมกับให้เพิ่มจำนวนนักโทษเข้าไปยังเรือนจำดังกล่าว

ทรัมป์ประกาศว่า หากเขาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เขาจะฉีกสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่รัฐบาลสหรัฐทำไว้กับอิหร่าน ซึ่งเป็นนโยบายที่อาจสร้างความขัดแย้งต่อพันธมิตรหลายชาติของสหรัฐ

ด้านนโยบายการค้าต่างประเทศ ทรัมป์ชูนโยบายเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสูงถึง 45% เพื่อป้องกันสินค้าราคาถูกเข้ามาตีตลาดสหรัฐ

ทรัมป์ยังเสนอนโยบายเอาใจคนรวยในสหรัฐ ด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้ โดยให้มีเพดานสูงสุดไม่เกิน 25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 39.6% ซึ่งนโยบายนี้ถูกตำหนิว่าอาจทำให้รัฐบาลกลางสูญเสียรายได้มากถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษหน้า และอาจเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินของรัฐบาลอีก 2 เท่าภายในระยะเวลาเดียวกัน

ทรัมป์ยังเสนอแก้ไขกฎการซื้อประกันสุขภาพของรัฐบาลของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ด้วยการให้บริษัทประกันสามารถขายข้อเสนอตามกฎหมายของแต่ละรัฐ และให้ประชาชนมีสิทธิเลือกซื้อประกันสุขภาพข้ามรัฐได้ตามความพึงพอใจ แทนมาตรฐานเดียวที่กำหนดโดยรัฐบาลกลาง

*นักการทูตผวาประธานาธิบดีชื่อ “ทรัมป์"

นักการทูตหลายชาติ ซึ่งล้วนเป็นชาติพันธมิตรกับสหรัฐ เช่นจาก ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย และละตินอเมริกา ออกมาแสดงความกังวลหากผู้กุมบังเหียนประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกคนต่อไปชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่นักการทูตจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าที่ผู้นำสหรัฐ เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการถูกมองว่าแทรกแซงกิจการทางการเมืองของสหรัฐ

*คนบันเทิงขอไปต่างดาว หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

แฌร์ นักร้องดัง บอกจะไปดาวพฤหัสบดี หากทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐคนใหม่ ส่วนวูปี้ โกลด์เบิร์ก ประกาศขอไม่อยู่อเมริกา ขณะที่เอ็ดดี กริฟฟิน และซามูเอล แอล.แจ็คสัน บอกจะไปแอฟริกา ทางด้านเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ บอกไม่ย้ายไปไหน แต่วันไหนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี โลกคงถึงจุดจบ

เอริค และโดนัลด์ จูเนียร์ ลูกชายทรัมป์ ซึ่งคงปากกล้าเหมือนทรัมป์ เลยพูดประชดว่า เขาจะซื้อตั๋วเครื่องบินให้คนที่อยากไปต่างประเทศ ถ้าไม่พอใจที่พ่อเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

*ฮิลลารี คลินตัน: นักการเมืองสาว จากสนามเล็ก สู่สนามใหญ่

คลินตันเกิดที่โรงพยาบาลเอดจ์วอเตอร์ในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เธอเป็นบุตรสาวคนโตของ ฮิวจ์ เอลส์เวิร์ท ร็อดแฮม และโดโรธี เอ็มม่า โฮเวลล์ บิดาของคลินตันเป็นเจ้าของธุรกิจสิ่งทอขนาดเล็ก ส่วนมารดาเป็นแม่บ้าน เธอมีน้องอีก 2 คนคือ ฮิวจ์และโทนี่

คลินตันจบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากวิทยาลัยสตรีเวลเลสลีย์ จากนั้นศึกษาต่อด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยเยล และรู้จักกับบิล คลินตัน ซึ่งขณะนั้นก็เรียนด้านกฎหมายอยู่ที่เยลเช่นกัน ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 1975 มีบุตรีด้วยกัน 1 คนคือ เชลซี คลินตัน

หลังจากที่สามี คือ บิล คลินตันชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คลินตันจึงมีตำแหน่งเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งไปโดยปริยาย โดยเธอนับเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต และมีอาชีพเป็นทางการก่อนได้รับตำแหน่ง เธอยังเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นหนึ่งในสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดเคียงคู่กับเอลินอร์ รูสเวลท์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในสมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์

หลังจากที่อดีตวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก แดเนียล แพทริค มอยนิแฮนประกาศเกษียณ สมาชิกพรรคเดโมแครตจึงสนับสนุนให้คลินตันลงสมัครเลือกตั้งวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์กในปี 2000 โดยเธอนับเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกที่ลงรับเลือกตั้งวุฒิสมาชิก และได้รับเลือกถึง 2 สมัยด้วยกัน

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2007 คลินตันประกาศลงสมัครรับเลือกเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการชิงชัยประธานาธิบดีในปี 2008 โดยเธอเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐที่ลงสมัครเป็นตัวแทนของพรรคระดับชาติ อย่างไรก็ดี คลินตันพ่ายแพ้ต่อวุฒิสมาชิกบารัค โอบามา ในการชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคในปีดังกล่าว แต่ต่อมา คลินตันก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาสมัยแรก

ในเดือนเม.ย.2015 คลินตันประกาศลงชิงตำแหน่งประธาธิบดีสหรัฐ แต่การหาเสียงก็มีอันต้องพบกับอุปสรรค เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า คลินตันใช้อีเมล์ส่วนตัวติดต่องานราชการในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ รวมทั้งยังมีข้อกังขาถึงกรณีที่ไม่สามารถจัดการกับเหตุโจมตีสถานกงสุลสหรัฐในเมืองเบนกาซี ประเทศลิเบีย ในปี 2012 และดูเหมือนว่าคลินตันยังคงต้องพบกับมรสุมลูกใหญ่อีกครั้ง หลังมีมือดีเจาะระบบอีเมล์ของพรรค และแฉข้อมูลบนเว็บไซต์วิกิลีกส์ว่า คณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครต (DNC) พยายามล็อบบี้ให้คลินตันได้รับชัยชนะเหนือเบอร์นี แซนเดอร์ส ในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารี

*นโยบายคลินตัน เตรียมรีดภาษีคนรวย ช่วยคนจน

ในขณะที่ทรัมป์มีนโยบายอุ้มคนรวยด้วยการลดเพดานภาษี คลินตันกลับมีนโยบายเก็บภาษีกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดในประเทศเพิ่มจากปกติอีก 4% โดยจะเก็บจากชาวอเมริกันที่มีรายได้เกิน 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 0.02% ของผู้จ่ายภาษีทั้งหมด และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 10 ปี ขณะที่คงอัตราภาษีสำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่

คลินตันประกาศสนับสนุน "กฎของบัฟเฟ็ตต์" ซึ่งเป็นนโยบายรีดภาษีคนรวยที่รัฐบาลโอบามาเสนอขึ้นมาเมื่อปี 2011 โดยตั้งชื่อตามมหาเศรษฐี วอร์เรน อี. บัฟเฟ็ตต์ ซึ่งเคยประกาศไว้เมื่อต้นปีเดียวกันว่า เขาไม่เห็นด้วยที่บรรดาเศรษฐีมีเงินจะจ่ายภาษีเงินได้ในอัตราต่ำกว่าชนชั้นกลาง โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย

การที่เศรษฐีอเมริกันบางรายจ่ายภาษีน้อยกว่านั้น เนื่องจากกฎหมายสหรัฐบัญญัติไว้ว่า รายได้จากการลงทุน เช่น กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เงินปันผล ตลอดจนกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับผู้จัดการการลงทุนและหุ้นส่วนกองทุนเฮดจ์ฟันด์นั้น ไม่ถือเป็นเงินได้ทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงถูกหักภาษีน้อยกว่าเงินได้ที่เป็นค่าจ้างแรงงาน

นอกจากนี้ เศรษฐีอเมริกันยังจ่ายภาษีประเภทสวัสดิการสังคม โดยคิดคำนวณจากรายได้เพียง 106,800 ดอลลาร์แรกเท่านั้น

หากมาตรการนี้มีการบังคับใช้จริง จะทำให้ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีขึ้นไปต้องจ่ายภาษีในอัตราขั้นต่ำ 30%

คลินตัน ยังให้คำมั่นว่าจะไม่เก็บภาษีเพิ่มจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึง 250,000 ดอลลาร์ต่อปี

ก่อนหน้านี้ คลินตันได้เสนอแผนลดหนี้ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณราว 350,000 ล้านดอลลาร์ โดยเธอบอกว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะถูกชดเชยด้วยการอุดช่องโหว่ทางภาษี

ขณะเดียวกัน คลินตันเสนอยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่มีการย้ายการลงทุนออกจากสหรัฐ

คลินตันขึ้นชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากตลาดวอลสตรีท แต่หนึ่งในนโยบายของเธอคือ การเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดทางการเงิน โดยจะเพิ่มโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 5 ปี เป็น 10 ปี รวมถึงขึ้นภาษีหรือเก็บค่าธรรมเนียมการลงทุนที่มีความเสี่ยงสำหรับธนาคารที่มีเงินทุนมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันการลงทุนที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน คลินตันยังสนับสนุนโครงการสร้างงาน และโครงการด้านสาธารณูปโภค, การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการรับประกันการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมกันแก่แรงงานสตรี รวมทั้งขยายการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของปธน.โอบามา

*TPP โดนฉีกแน่ ไม่ว่าทรัมป์-คลินตันขึ้นกุมบังเหียนสหรัฐ

ถึงแม้ทรัมป์และคลินตันมีบุคลิกลักษณะ และนโยบายที่แตกต่างกันสุดขั้ว แต่เป็นเรื่องแปลกที่ทั้งสองต่างมีความเห็นตรงกันในเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ของปธน.โอบามา ถึงแม้คลินตันจะเคยทำงานร่วมกับโอบามาในการจัดทำข้อตกลงดังกล่าวก็ตาม ทำให้มีแนวโน้มสูงที่ข้อตกลงนี้จะถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง หากทั้งสองขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐ

*โพลล์,ผู้เชี่ยวชาญฟันธง"ทรัมป์"ไปไม่ถึงดวงดาว พ่ายสตรีในศึกเลือกตั้งปลายปีนี้

หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย. ก็คงจะทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกหวั่นๆว่า โลกจะอยู่ในสภาพเช่นไร หากมีผู้นำสหรัฐชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มีบุคลิกโผงผาง ขวานผ่าซาก และอะไรจะเกิดขึ้นหากวันใดท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งรู้โค้ดลับสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ เกิดอารมณ์ชั่ววูบไม่พอใจรัสเซีย, เกาหลีเหนือ หรือกลุ่ม IS

อย่างไรก็ดี ยังคงมีข่าวดีจากการสำรวจของหลายสำนัก และจากการสอบถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ต่างฟันธงว่าทรัมป์จะพ่ายแพ้ต่อคลินตันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

ทางด้าน WPP ซึ่งเป็นบริษัทเอเจนซีโฆษณาใหญ่ที่สุดในโลก ก็แสดงความเห็นเช่นกันว่าคลินตันจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง และจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป

หากพรรครีพับลิกันแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ ก็จะถือเป็นการพ่ายแพ้ต่อพรรคเดโมแครต 3 สมัยซ้อน หลังจากที่ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคือมิช รอมนีย์ และจอห์น แมคเคน ต่างพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อประธานาธิบดีบารัค โอบามาในการเลือกตั้ง 2 สมัย

หากคลินตันประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ถึง 2 เรื่องในวงการการเมืองสหรัฐ คือเป็นสตรีคนแรกที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และการเป็นคู่สามี-ภรรยาคู่แรกที่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐ หลังจากที่บิล คลินตันเคยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ 2 สมัยก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ คลินตันยังจะสามารถเพิ่มตำแหน่งห้อยท้ายของบิล คลินตัน สามีของเธอ จากอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นบุรุษหมายเลขหนึ่งของสหรัฐด้วย

*เอเชียอ่วม หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

นักวิเคราะห์ฟันธงว่าเอเชียคือภูมิภาคหนึ่งที่จะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้อย่างแท้จริง หากทรัมป์เกิดได้เป็นประธานาธิบดีขึ้นมา

"ประธานาธิบดีทรัมป์จะกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นซึ่งพัดกระหน่ำทำลายความสัมพันธ์ที่สหรัฐมีอยู่ในเอเชีย" เจฟฟ์ คิงสตัน ผู้อำนวยการเอเชียศึกษา ณ วิทยาเขตโตเกียว ของมหาวิทยาลัยเทมเปิล กล่าว

ทรัมป์จะทำทุกอย่างเพื่อได้ความนิยมจากคนอเมริกันชนชั้นกลาง โดยอาเซียนจะไม่อยู่ในลำดับความสำคัญขั้นต้นๆ ของเขา ยิ่งถ้าหากเขาต้องการจะแสดงผลงานว่าจะไม่ให้เอเชียแย่งงานคนอเมริกัน ทรัมป์ก็จะยิ่งออกมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่สหรัฐมีต่อประเทศในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ ทรัมป์จะฉีกข้อตกลง TPP หรืออาจเรียกร้องให้เปิดการเจรจาต่อรองกันใหม่

ข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐกับหลายๆ ชาติทั้งในเอเชีย และยุโรปอาจจะตกอยู่ในภาวะปั่นป่วนวุ่นวาย เนื่องจากทรัมป์จะหาทางบีบบังคับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ รวมทั้งสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ให้จ่ายเงินสมทบเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สหรัฐลดค่าใช้จ่ายในการตั้งฐานทัพเพื่อคุ้มครองประเทศ หรือภูมิภาคดังกล่าว

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและญี่ปุ่นอาจตกอยู่ในภาวะตึงเครียด หลังทรัมป์เคยกล่าวหาจีนและญี่ปุ่นว่าแย่งงานคนอเมริกัน ทำให้ทรัมป์อาจเปิดการเจรจาครั้งใหม่กับประเทศทั้งสอง โดยไม่ยอมให้สหรัฐถูกเอาเปรียบอีกต่อไป ทั้งยังอาจจะเรียกให้ธุรกิจสหรัฐที่ไปลงทุนในทั้งสองประเทศกลับมาสร้างงานในสหรัฐ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเตรียมเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 45% สำหรับสินค้าที่ส่งออกจากจีน และอาจเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ญี่ปุ่น หรืออาจลดค่าเงินดอลลาร์เพื่อกระตุ้นการส่งออกของสหรัฐ

*คาดคลินตันสานต่อนโยบายโอบามาต่อเอเชีย หากเป็นผู้นำสหรัฐคนใหม่

นโยบายของคลินตันเกี่ยวกับเอเชียคงไม่ต่างจากปธน.โอบามามากนัก และจุดยืนของคลินตันน่าเป็นเป็นมิตรต่อเอเชียมากกว่าทรัมป์ เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และเดินทางมาแถบนี้หลายครั้ง รวมทั้งยังได้มาเยือนประเทศไทยหลังจากที่รับตำแหน่งใหม่ ๆ

อย่างไรก็ดี คลินตันมีความเห็นเหมือนกับทรัมป์ในเรื่องคัดค้านข้อตกลง TPP ของปธน.โอบามาค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากมองว่า เป็นข้อตกลงที่ไม่สามารถเพิ่มโอกาสการทำงาน และค่าจ้างให้แก่แรงงานชาวอเมริกันได้ ขณะที่ไทยซึ่งกำลังแสดงความต้องการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว ก็คงต้องทำการประเมินสถานการณ์ใหม่

ส่วนนโยบายด้านการค้า การลงทุนของสหรัฐต่ออาเซียนและไทย ภายใต้การนำของคลินตัน ก็ยังคงยังเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน คลินตันเคยประกาศว่าหากได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จะดำเนินมาตรการตอบโต้จีนและญี่ปุ่น ที่ลดค่าเงินของตัวเองให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อเอื้อต่อการส่งออก เพราะมองว่า กระทบต่อแรงงานและการจ้างงานของสหรัฐ คลินตันอาจจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีและค่าธรรมเนียมสินค้านำเข้า

ในช่วงที่คลินตันดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อโอบามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก คลินตันมีแนวคิดในการแทรกแซงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเธอเป็นผู้สนับสนุนนโยบายการถ่วงดุลอำนาจในเอเชียของปธน.โอบามา เพื่อให้สหรัฐกลับมาเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนการค้าหลักของสหรัฐ ขณะที่สหรัฐมีการตั้งฐานทัพและกองกำลังในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และทั่วแปซิฟิก

นอกจากนี้ คลินตันยังให้ความสำคัญกับละตินอเมริกาและเอเชียมากกว่าผู้สมัครรายอื่น โดยแต่งตั้ง ลิซ่า จ่างอรรถเวช ชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ในรัฐจอร์เจีย เป็นกรรมการประสานงานของเอเชียน อเมริกัน แปซิฟิก ไอส์แลนเดอร์ (เอเอพีไอ) โดยโครงการดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับชาวอเมริกันในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ และประเด็นเรื่องผู้อพยพ

*แต่สุดท้าย นโยบายอาจเป็นแค่ลมปากที่ล่องลอยไปกับสายลม

อย่างไรก็ดี ต่อให้ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือคลินตันที่ชนะการเลือกตั้งเข้าไปบริหารงานในทำเนียบขาว เขาและเธอก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำตามนโยบายทุกข้อที่ประกาศไว้ในตอนหาเสียง เนื่องจากสหรัฐมีระบบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นรัฐบาลสหรัฐ และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งก็คือสภาคองเกรส รวมทั้งฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นศาลของสหรัฐ สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ หรือประธานาธิบดีคลินตันต้องการจะทำ หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติ หรือศาลตัดสินว่าขัดต่อกฎหมาย ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ เสียงของพลังประชาชนจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมก็จะมีบทบาทสำคัญในการขัดขวางนโยบายที่ไม่เข้าท่าของรัฐบาล

คาดว่าทั้งทรัมป์และคลินตันเองก็คงเข้าใจในข้อจำกัดเหล่านี้ในการนำนโยบายมาบังคับใช้จริง แต่ด้วยนิสัยของนักการเมืองซึ่งต้องการหาจุดขายในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งขณะนี้ จึงทำให้ทั้งสองพูดในสิ่งที่คิดว่าอยากจะพูดได้เต็มที่ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ ก็จะโบ้ยความผิดไปที่คองเกรสหรือศาลสหรัฐว่าเป็นต้นเหตุของอุปสรรคในการดำเนินการ

*ไทยควรเตรียมรับมือก่อนผู้นำสหรัฐคนใหม่รับตำแหน่งต้นปีหน้า

ถึงแม้ไทยเป็นประเทศเล็กๆ ที่อาจไม่ได้อยู่ในความสนใจหลักของสหรัฐ แต่ในช่วงเวลาอีกไม่กี่เดือน ก่อนที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในต้นปีหน้า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของไทยควรเตรียมศึกษาแนวทางนโยบายที่ทรัมป์ หรือคลินตันมีต่อเอเชีย เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคง และการค้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลง TPP ที่มีแนวโน้มว่าอาจถูกฉีก หรืออาจต้องมีการแก้ไขค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากทั้งทรัมป์และคลินตันพูดชัดเจนเหมือนกันว่าไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว ไทยซึ่งกำลังมีความต้องการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ ก็คงต้องปรับท่าทีรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐต่อไป


แท็ก สหรัฐ   ช้าง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ