In Focusคลายปมสงสัย เกาหลีเหนือครอบครองขีปนาวุธข้ามทวีปแล้วจริงหรือไม่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 12, 2017 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครบหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile หรือ ICBM) ซึ่งทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในความประหวั่นพรั่นพรึง เนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือมีความคืบหน้าในการพัฒนาอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในคาบสมุทรเกาหลีอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังเป็นหมากที่จะช่วยพลิกเกมให้กับเกาหลีเหนือด้วยอำนาจต่อรองที่มากขึ้นบนโต๊ะเจรจากับสหรัฐและนานาชาติ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความอึมครึมที่แผ่ปกคลุมคาบสมุทรเกาหลีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั่น กลับเกิดกระแสกังขาและคำถามผุดขึ้นตามมาว่า เกาหลีเหนือมีขีดความสามารถทางทหารเช่นนั้นจริงหรือไม่

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเกาหลีเหนือ

เกาหลีเหนือประกาศอย่างภาคภูมิว่า การทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป “ฮวาซอง-14" ที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้นั้น ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และได้พิสูจน์ว่าเกาหลีเหนือสามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการควบคุมหัวรบให้ทอดตัวกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพื่อโจมตีเป้าหมายภาคพื้นได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้เปียงยางยังประกาศความก้าวหน้าในด้านวัสดุศาสตร์ เมื่อสามารถพัฒนาวัสดุคาร์บอนทนความร้อนที่ใช้กับหัวรบนิวเคลียร์โดยเฉพาะ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยปกป้องหัวรบนิวเคลียร์ไม่ให้เสียหายจากอุณหภูมิที่สูงและแรงสั่นสะเทือนจากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศในช่วงที่หัวรบย้อนกลับลงสู่พื้นโลก

หลังการทดสอบผ่านพ้นไปได้ไม่นานนัก ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปจริง โดยขีปนาวุธลูกดังกล่าวสามารถพุ่งไต่ระดับไปถึงความสูงกว่า 2,800 กม.จากพื้นดิน และเคลื่อนที่ไปในอากาศรวมระยะทาง 935 กม. รวมเวลา 37 นาที ก่อนไปตกในทะเลญี่ปุ่น ซึ่งหากคำนวณจากแนววิถีขีปนาวุธฮวาซอง-14 ตามหลักการอุณหพลศาสตร์ (เทอร์โมไดนามิกส์) และแรงต้านทางหลักอากาศพลศาสตร์แล้ว ก็หมายความว่า ขีปนาวุธดังกล่าวสามารถเคลื่อนที่ไปได้ในระยะทางไกลกว่า 5,500 กม. ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่สหรัฐและรัสเซียใช้กำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของขีปนาวุธข้ามทวีป

ผู้สันทัดกรณีด้านอาวุธหลายคนปักใจเชื่อว่า เกาหลีเหนืออาจจะจงใจปิดการทำงานของเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงเหลวในขีปนาวุธฮวาซอง-14 ก่อนเวลาอันควร เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ขีปนาวุธเคลื่อนที่ข้ามประเทศญี่ปุ่นหรือตกลงในน่านน้ำที่ไกลกว่านั้นในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น ซึ่งจากการคาดคะเนดังกล่าวทำให้สหรัฐประเมินว่า ขีปนาวุธฮวาซอง-14 มีพิสัยทำการอยู่ในช่วงระหว่าง 7,500-9,500 กม. โดยที่ระยะดังกล่าวสามารถโจมตีได้ไกลถึงเมืองสำคัญๆในบริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ รวมถึงลอสแอนเจลิส ซีแอตเทิล ซานฟรานซิสโก หรือแม้กระทั่งฐานทัพเรือของสหรัฐในซานดีเอโก ซึ่งไกลกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินในเบื้องต้นว่า รัศมีการโจมตีของขีปนาวุธฮวาซอง-14 จะครอบคลุมถึงแค่รัฐอะแลสกา หรืออย่างมากก็รัฐฮาวายเท่านั้น

รัสเซียโต้แย้งด้วยหลักฐานใหม่

อย่างไรก็ตาม รัสเซีย ประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์และหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงถาวรแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ยื่นหลักฐานใหม่ต่อยูเอ็นโดยยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า ขีปนาวุธที่เกาหลีทดสอบในวันชาติสหรัฐนั้น เป็นเพียงขีปนาวุธพิสัยกลาง (Intermediate-range Ballistic Missile หรือ IRBM) เท่านั้น ไม่ใช่ขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) แต่อย่างใด

รัสเซียอ้างข้อมูลข่าวกรองที่ได้มาจากระบบเรดาร์แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าของรัสเซียว่า ขีปนาวุธฮวาซอง-14 ของเกาหลีเหนือ มีการเคลื่อนที่รวมระยะทาง 510 กม. และพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเพียง 535 กม.เท่านั้น ไม่ใช่ 2,800 กม.ตามที่สหรัฐและชาติพันธมิตรในเอเชียตะวันออกยืนยันก่อนหน้านี้

จากข้อมูลแย้งข้างต้น ทำให้รัสเซียฟันธงว่า ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบไปนั้น มีความใกล้เคียงกับขีปนาวุธปุกกุกซอง-1 ซึ่งเป็นขีปนาวุธแบบที่ปล่อยจากเรือดำน้ำ (Submarine-launched Ballistic Missile หรือ SLBM) และขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นปุกกุกซอง-2 ที่เกาหลีเหนือเคยทดสอบไปก่อนหน้านี้

นอกจากรัสเซียแล้ว ล่าสุดคณะกรรมาธิการข่าวกรองของรัฐสภาเกาหลีใต้ ก็เกิดความเคลือบแคลงในขีดความสามารถทางเทคโนโลยีทหารของเกาหลีเหนือเช่นกัน โดยพวกเขาเชื่อว่าเกาหลีเหนือยังไม่สามารถพัฒนาหัวรบที่สามารถเคลื่อนที่กลับลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ เนื่องจากที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยังไม่มีระบบการทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว พร้อมกับยืนยันว่า ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบนั้น เป็นรุ่นที่ดัดแปลงมาจากรุ่น KN-17 ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยกลางที่เกาหลีเหนือทดสอบเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

สหรัฐหักล้างข้อมูลของรัสเซีย

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาโต้แย้งสมมติฐานของรัสเซียอย่างทันควัน โดยให้เหตุผลว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ระบบเรดาร์เตือนภัยของรัสเซียอาจตรวจจับการเคลื่อนไหวของขีปนาวุธเกาหลีเหนือได้ถึงเพียงช่วงที่ขีปนาวุธปลดส่วนประกอบท่อนแรกซึ่งเป็นถังบรรจุเชื้อเพลิงออก โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐยืนยันว่า ขีปนาวุธฮวาซอง-14 ได้ไต่ระดับไปถึงความสูง 585 กม.ก่อนที่จะมีการปลดขีปนาวุธท่อนล่างออก ซึ่งระยะความสูงดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับตัวเลขจากเรดาร์ของรัสเซีย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ขีปนาวุธท่อนบนซึ่งขับดันสู่วงโคจรโลกนั้น จะมีขนาดเล็กพอที่จะหลบเลี่ยงการถูกตรวจจับโดยระบบเรดาร์ของรัสเซียได้ หรืออาจเป็นเพราะระบบแจ้งเตือนภัยของรัสเซียไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในอดีตที่ผ่านมา รัสเซียมักรายงานตัวเลขเกี่ยวกับการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในลักษณะที่สวนทางกับฉันทามติของนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จนถูกมองว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของรัสเซียที่แฝงด้วยวาระซ่อนเร้นทางการเมือง

รัสเซียอาจกำลังเล่นเกมการทูตเหมือนที่ผ่านๆมา โดยการแสดงจุดยืนที่ขัดแย้งกับชาติสมาชิกอื่นๆในคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น เพื่อต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนจากสหรัฐ หรืออาจต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเหตุผลอ้างอิงเพื่อออกเสียงคัดค้านมติของสหประชาชาติในการประณามการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ

ดังนั้นข้อมูลหักล้างของสหรัฐข้างต้น จึงทำให้ข้อสมมติฐานในเรื่อง IRBM ของรัสเซียมีน้ำหนักน้อยลงและขาดความน่าเชื่อถือไปพอสมควร

เกาหลีเหนือมีขีดความสามารถในการพัฒนา ICBM จริงหรือ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านขีปนาวุธเกาหลีเหนือเห็นตรงกันว่า ขีปนาวุธฮวาซอง-14 ไม่ใช่ขีปนาวุธที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการนำส่วนประกอบของขีปนาวุธรุ่นก่อนๆที่ผ่านการทดสอบแล้วมารวมกันและพัฒนาต่อยอดขึ้น โดยฮวาซอง-14 ใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกับขีปนาวุธฮวาซอง-12 และใช้เทคโนโลยีโครงสร้างเดิมที่ใช้กับต้นแบบฮวาซอง-14 ส่วนขีปนาวุธท่อนบนที่ประกอบด้วยหัวรบนั้น มีขนาดและสมรรถนะที่คล้ายคลึงกับฮวาซอง-13 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้แล้ว จะเห็นภาพรวมว่า การที่เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลได้สำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ถึงแม้ขีปนาวุธฮวาซอง-14 ยังมีสมรรถนะที่ต่ำและขาดความแม่นยำ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า เกาหลีเหนือจะสามารถพัฒนาขีปนาวุธที่สามารถเจาะทะลวงระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐได้อย่างแน่นอน ทว่าขีปนาวุธที่ว่านี้ยังคงบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ขนาด 500-600 กก.ที่มีความแม่นยำในขอบเขตจำกัดและยังไม่สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้หลายหัวพร้อมกัน เนื่องจากเกาหลีเหนือยังต้องตีโจทย์ให้แตกในเรื่องการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ให้มีน้ำหนักเบาพอที่จะทำให้ขีปนาวุธสามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกลแบบ ICBM ซึ่งการที่เกาหลีเหนือจะไปถึงจุดนั้นได้นั้น อาจต้องใช้เวลาพัฒนาไปจนถึงปี 2573 เป็นอย่างน้อย

ปัญหาท้าทายของสหรัฐ

แน่นอนว่าหากเกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้สำเร็จ ย่อมเป็นแรงผลักดันให้สหรัฐเร่งยกระดับประสิทธิภาพของระบบโล่ขีปนาวุธที่มีอยู่ เนื่องจากในปัจจุบัน สหรัฐยังมีข้อจำกัดในเทคโนโลยีนี้อยู่มาก โดยผลการทดสอบระบบสกัดกั้นขีปนาวุธของสหรัฐในอดีตที่ผ่านมานั้น มีอัตราความสำเร็จเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และล่าสุด การทดสอบขีปนาวุธสกัดกั้น SM-3 Block IIA ด้วยระบบอำนวยการรบ Aegis Baseline 9.C2 บนเรือพิฆาตจอห์น พอล โจนส์ ในเดือนที่แล้ว ก็ประสบความล้มเหลว ซึ่งบ่งชี้ว่าสหรัฐยังคงฝากความหวังไว้กับระบบป้องกันขีปนาวุธได้ไม่เต็มร้อย อย่างไรก็ตาม สหรัฐก็มีสัญญาณบวกอยู่บ้าง เมื่อการทดสอบระบบขีปนาวุธสกัดกั้นจากภาคพื้นดิน (Ground-Based Interceptor) ที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนพ.ค. ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถยิงทำลายขีปนาวุธข้ามทวีปแบบจำลองที่ปล่อยมาจากเกาะควาจาเลนอะทอลล์ ในหมู่เกาะมาร์แชลล์ได้อย่างแม่นยำ แต่กระนั้น สหรัฐก็ยังต้องเร่งยกระดับความน่าเชื่อถือของระบบโล่ขีปนาวุธดังกล่าวต่อไป

ไม่ว่าเกาหลีเหนือจะใช้เวลาพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์อีกมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นแล้วในปัจจุบันก็คือ เกาหลีเหนือมีความคืบหน้าที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งจะส่งผลให้ดุลอำนาจทางทหารในบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะเดียวกันก็จะเป็นแรงผลักดันใหม่ให้นานาชาติเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางยุทโธปกรณ์เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจบ่งชี้ได้ว่า ยุคแห่งการแข่งขันด้านอาวุธครั้งใหม่อาจเริ่มต้นขึ้นแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ