In FocusAI อีกหนึ่งบททดสอบของเส้นทางสู่มหาอำนาจโลกของเอเชีย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 20, 2017 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากการที่อเมริกาและรัสเซียแข่งกันสร้างดาวเทียมขึ้นโคจรรอบโลกเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1950 นั้นเรียกได้ว่าเป็นการทำสงครามเย็นเพื่อก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี การพัฒนา AI ของทั้ง 2 ชาติในเวลานี้ก็คงเป็นประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนฉากเพื่อเป้าหมายที่ไม่ต่างกัน ทว่ามีผู้เล่นหน้าใหม่รายสำคัญซึ่งทุ่มสุดตัวอย่างจีน เข้ามาเพิ่มความเข้มข้นด้วย...

ไม่เพียงแค่นักวิชาการในแวดวงวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับพลานุภาพของ AI บรรดานักการเมือง นักธุรกิจใหญ่ ไปจนถึงผู้นำแถวหน้าของโลกล้วนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ว่านี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนของเด็ก ๆ ชาวรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน แสดงปาฐกถาที่มีใจความสำคัญว่า ชาติใดที่เป็นผู้นำในงานวิจัยและการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ จะกลายเป็นผู้กุมอำนาจเหนือประเทศอื่น ๆ ในที่สุด ให้หลังเพียง 3 วัน อีลอน รีฟ มัสก์ มหาเศรษฐีวิศวกร และนักประดิษฐ์ผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งก่อตั้งบริษัทสเปซเอ็กซ์ อีกทั้งยังร่วมก่อตั้งบริษัทชื่อดังระดับโลกอีกหลายแห่ง ตลอดจนเป็นผู้จุดประกายความคิดระบบขนส่งความเร็วสูง (ไฮเปอร์ลูป) และเครื่องบินใบพัดขับเคลื่อนไฟฟ้าเหนือเสียงแนวดิ่ง ได้ทวีตผ่านแอ็คเคาท์ส่วนตัวว่า การแข่งขันกันพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในระดับนานาชาติอาจจะนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นข่าวการคิดค้นเทคโนโลยี AI ใหม่ ๆ ของประเทศต่าง ๆ ออกมาอยู่เสมอ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจแห่งทวีปเอเชียที่มุ่งมั่นก้าวสู่มหาอำนาจโลกอย่างจีน

ทุ่มสุดตัว

“จีนลงทุน AI ด้วยเม็ดเงินมหาศาล มั่นใจเทียบสหรัฐเร็ววันนี้" Forbes.com จั่วหัวประเด็นดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา พร้อมเนื้อหาสำคัญว่า นายหลิว หลี่หัว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยถึงการจดสิทธิบัตรด้าน AI ของจีนล่าสุดที่ 15,745 ฉบับ ด้านนายหว่าน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้ออกมาระบุถึงการร่างแผน AI ระดับชาติซึ่งจะช่วยเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้ความรู้ความเข้าใจในด้านต่าง ๆ พร้อมการสนับสนุนด้านงบประมาณ

สำหรับผู้นำด้าน AI ในจีนนั้นคือ สามทหารเสืออย่าง Baidu, Alibaba และ Tencent หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า China’s BAT โดย Baidu เป็นบริษัทแรกของจีนที่เริ่มดำเนินการวิจัยด้าน AI โดยใช้ระบบที่เรียกว่า Duer สำหรับการใช้งานอุปกรณ์ภายในบ้านและรถยนต์ไร้คนขับ ด้าน Alibaba กำลังใช้งาน AI เพื่อคาดการณ์ปริมาณการสั่งซื้อในภูมิภาค รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่ง ขณะที่ Tencent ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้เชิงลึกผ่านการใช้ข้อมูลทางสังคม ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนี้ห้ำหั่นกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยี AI มาโดยตลอด

ล่าสุด รัฐบาลจีนประกาศเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในปี 2573 ด้วยวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นว่า AI เป็นรากฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต พร้อมกับเรียกร้องให้มีการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนทรัพยากรด้านการวิจัย และการศึกษา เพื่อสร้างความก้าวหน้าครั้งใหญ่ภายในปี 2568 ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่แถลงเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560 นี้ สะท้อนเสียงสนับสนุนเทคโนโลยี AI จากฝั่งการเมืองด้วย

ญี่ปุ่น, อินเดีย… อาจเป็นม้ามืด

ในเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกมาประกาศแผนยกระดับการสนับสนุนกลุ่มผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยี ด้วยวงเงินสูงสุดถึง 10 ล้านเยน (89,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ภายใต้โครงการใหม่ที่จะมีขึ้นเพื่อส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นมีเทคโนโลยี AI รวมอยู่ด้วย โดยนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป สำนักงานส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จะเริ่มเปิดคอร์สอบรมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มสตาร์ทอัพ โดยจะเน้นที่การบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นขอบข่ายที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียังไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ

นอกจากนี้ นายมาซาโยชิ ซัน ประธาน ซอฟท์แบงค์ ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยว่า ทางบริษัทจะมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต

"ขณะที่เราอยู่ในระหว่างการปฏิวัติข้อมูล ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นกับวงการอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็วเทคโนโลยี AI จะพัฒนาไปไกลกว่าความสามารถของมนุษย์ ส่วนที่ว่าประเด็นนี้จะเป็นเรื่องดีหรือไม่นั้นยังคงต้องถกเถียงกันต่อไป... อย่างไรก็ตามที ซอฟท์แบงค์มุ่งหวังที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแห่งศักราชใหม่นี้ให้ได้"

หากพูดถึงความรู้ความสามารถเชิงวิชาการและเทคโนโลยีแล้วมองข้ามประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลกมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอย่างอินเดียไป ก็ดูจะเป็นการประมาทมิใช่น้อย ซึ่งความจำเป็นในการพัฒนา AI ของอินเดียนั้นมาจากการเป็นประเทศเอาท์ซอร์สด้านไอทีที่มีมูลค่ามากกว่า 143,000 ล้านดอลลาร์ และมีแรงงานเกี่ยวข้องกว่า 4 ล้านคน ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกใช้บริการเอาท์ซอร์สจากอินเดียเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดอินโฟซิส บริษัทผู้ส่งออกซอฟต์แวร์รายใหญ่ของอินเดียเปิดเผยว่าจะเปิดฮับด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั่วสหรัฐ โดยเน้นเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรวมถึง AI ด้วย

มรดกทางปัญญามูลค่านับไม่ถ้วน

เมื่อไม่นานมานี้ Accenture Research บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการ, บริการทางเทคโนโลยี และอาต์ซอร์สชั้นนำของโลก ร่วมกับ Frontier Economics ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตลาดและการใช้กลยุทธ์ด้านเศรษฐศาสตร์ ตีพิมพ์รายงานที่เปรียบเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจใน 16 อุตสาหกรรม ซึ่งคาดการณ์ผลกระทบของ AI ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกจนถึงปี 2578 โดยใช้มูลค่าเพิ่มรวม หรือ Gross value added (GVA) เป็นค่าประมาณเทียบเคียงแทนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) พบว่า ยิ่งนำ AI มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมมากเท่าใด ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ AI มีศักยภาพในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ 1.7% สำหรับทุกอุตสาหกรรมในปี 2578 ยิ่งไปกว่านั้นยังมีศักยภาพในการเพิ่มความสามารถด้านการทำกำไรเฉลี่ย 38% ภายในปี 2578 และนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจมูลค่า 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐใน 16 อุตสาหกรรม ของ 12 ประเทศภายในปี 2578 ด้วย

ข้อมูลข้างต้นฉายภาพอันชัดเจนว่าหากประเทศใดสามารถนำ AI มาบูรณาการในภาคส่วนต่าง ๆ ได้มาก ก็ย่อมถือไพ่เหนือกว่าชาติอื่น ๆ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่หลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะเร่งพัฒนาความรู้ความสามารถให้ล้ำหน้าชาติตะวันตก เพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเปิดศักราชใหม่ให้เอเชียก้าวสู่ตำแหน่งมหาอำนาจโลกในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ