การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 15, 2011 10:44 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีที่บางภาคส่วนได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย ดังนี้

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีข้อบัญญัติทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการหมิ่นประมาทของสามัญชนด้วย กฎหมายดังกล่าวให้ความคุ้มครองต่อสิทธิส่วนพระองค์และชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทน ในลักษณะเดียวกับ ที่กฎหมายหมิ่นประมาทให้ความคุ้มครองต่อบุคคลทั่วไป กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพด้านวิชาการ ซึ่งรวมถึงการถกวาทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ

ดังเช่นในสังคมประชาธิปไตยทั้งหลาย ประชาชนไทยได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ

ซึ่งรวมถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายและการถกวาทีเกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต ได้มีขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย อย่างไรก็ดี บุคคลใดที่ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวในทางที่ผิด ด้วยการเผยแพร่คำกล่าวที่มุ่งร้ายชิงชัง หรือข้อมูลเท็จ เพื่อยุยงให้เกิดความรุนแรงหรือความเกลียดชังในหมู่คนไทยหรือต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย — ไม่ว่าจะผ่านทางอินเทอร์เน็ต สังคมออนไลน์ อุปกรณ์สื่อสารประเภทต่าง ๆ หรือช่องทางอื่นใด — จำต้องมีความผิดและได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

การดำเนินคดีต่อนายอำพล ตั้งนพกุล และนายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ (โจ กอร์ดอน) เป็นไปตามกฎหมายของไทย โดยบุคคลทั้งสองได้รับการปฏิบัติตามกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดี และได้รับความช่วยเหลือจากทนาย รวมทั้งสิทธิที่จะอุทธรณ์

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ