การประชุมเรื่องพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาอาชญากรรมข้ามชาติ และพิธีสารค้ามนุษย์ของสหประชาชาติ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 19, 2014 14:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด จัดการประชุมเรื่อง การปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้าน อาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (UNTOC) และพิธีสาร UNTOC ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ณ โรงแรมเซ็นทารา ลาดพร้าว

การประชุมดังกล่าว มีผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ผู้แทนจากหน่วยงานสหประชาชาติ คือ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และโครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำสหประชาชาติ (UN-ACT) ร่วมอภิปราย ตลอดจนมีหน่วยงานไทยด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน

นายวัน ชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวเปิดการประชุมโดยชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นก็ยังคงต้องรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ดังนั้น จึงหวังว่า เวทีการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จะช่วยสร้างและประสานความเข้าใจระหว่างหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การบูรณาการในการทำงานเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการแก้ ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

ในการนี้ นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้กล่าวต้อนรับวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา และกล่าวถึงปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติว่า ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเป็นความท้าทายที่มีมาพร้อมกับโลกาภิวัตน์และการสื่อสารผ่านแดนที่เพิ่ม มากขึ้น ความท้าทายเหล่านี้สะท้อนความจำเป็นที่หน่วยงานไทยจะต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ และต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว การประชุมฯ จึงมุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพันธกรณีที่ไทยมีต่ออนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ตลอดจนให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เห็นถึงประโยชน์ในกรอบความร่วมมือดังกล่าว และหวังว่าจะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติฯ และพิธีสารค้ามนุษย์ฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดยมีกฏหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. ๒๕๕๖ และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกฎหมายอนุวัติการ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ