การบรรยายพิเศษเรื่องกรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ โดยศจ. Michel Troper แห่งมหาวิทยาลัย Paris ที่ ๑๐Nanterre

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 3, 2015 11:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

การบรรยายพิเศษเรื่องกรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ

โดยศจ. Michel Troper แห่งมหาวิทยาลัย Paris ที่ ๑๐Nanterre

สถาบันพระปกเกล้าจัดให้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศส ๒ คน และจากเยอรมนี ๑ คน ศจ. Michel Troperศจ.เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยปารีสที่ ๑๐ นองแตร์ เป็นผู้บรรยายคนที่สอง เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ในหัวข้อ“กระบวนการเปลี่ยนถ่ายโครงสร้างด้านสถาบันเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติ: กรณีศึกษาของฝรั่งเศส ตัวอย่างกลไกการสร้างเสถียรภาพให้ระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบสาธารณรัฐที่ ๕ ของฝรั่งเศส” ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีผู้รับฟังการบรรยายจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาล นักวิชาการ และสื่อมวลชน รวมประมาณ ๒๒๐ คน

ศจ. Troperเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการศูนย์ทฤษฎีนิติศาสตร์ มีแนวคิดที่แตกแขนงจากวิธีตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษร (legal positivism) โดยยึดถือความเป็นจริงตาม “ทฤษฎีการตีความแบบ

สัจนิยม” คือถือว่า ตัวบทกฎหมายทั้งหลาย เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ จะใช้เป็นบรรทัดฐานได้ก็ต่อเมื่อมีการตีความโดยสถาบันยุติธรรมสูงสุด โดยคำตัดสินถือเป็นที่สุด ศจ. Troperกล่าวว่าไทยและฝรั่งเศสมีความคล้ายคลึงกันในหลายประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ อาทิ การมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ โดยฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญกว่า ๑๕ ฉบับ นับตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๘๙ ทั้งนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงให้เห็นถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ศจ. Troperกล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีคำจำกัดความทางกฎหมายของคำว่า “การทำรัฐประหาร” ที่ชัดเจน และไม่จำเป็นเสมอไปว่าการทำรัฐประหารจะต้องมีการใช้ความรุนแรงในการยึดอำนาจ รัฐประหารอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน และอาจเป็นการดำเนินการเพื่อไปสู่ระบอบเผด็จการหรือเพื่อปูทางไปสู่การฟื้นฟูความเป็นประชาธิปไตยก็ได้ แนวคิดการมองรัฐธรรมนูญว่าจะทำหน้าที่และทำให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร มี ๒ แนวคิด คือ แนวคิดเชิงกฎเกณฑ์ เป็นแนวคิดที่มองว่าคนส่วนใหญ่เป็นคนดี โดยรัฐธรรมนูญจะกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนเพื่อที่ประชาชนจะปฏิบัติตามได้และสามารถตรวจสอบการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญได้ และ แนวคิดเชิงกลไก ซึ่งมองว่า จำเป็นต้องกำหนดกลไกที่มีการถ่วงดุลและคานอำนาจอย่างลงตัวเพื่อให้รัฐธรรมนูญได้รับการปฏิบัติตาม

การร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับใหม่เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๕ ของนายพล De Gaulle มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองในขณะนั้น โดยการใช้ มาตรา ๑๖ ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสถานการณ์พิเศษ ภายใต้เงื่อนไขว่า (๑) ต้องมีภัยคุกคามอย่างจริงจังและทันทีต่อสถาบันของรัฐ เอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดน หรือการปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ และ (๒) ทำให้องค์กรของรัฐไม่สามารถปฏิบัติงานตามปกติได้ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ประธานาธิบดีต้องปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานสภาของทั้งสองสภาและสภารัฐธรรมนูญก่อน อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญกำหนดเพียงให้ขอคำปรึกษา มิใช่ขอความเห็นชอบ ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงเป็นผู้เดียวที่สามารถใช้ดุลพินิจตัดสินใจได้ว่าเป็นสถานการณ์พิเศษที่ต้องใช้มาตรา ๑๖ หรือไม่ โดยที่ผ่านมา ฝรั่งเศสเคยใช้มาตรา ๑๖ เพียงครั้งเดียวคือ ในปี ค.ศ. ๑๙๖๑ เพื่อแก้วิกฤตสงครามแอลจีเรีย ก่อนหน้าปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขของการใช้มาตรา ๑๖ โดยในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ได้มีการปรับแก้ว่า หลังบังคับใช้มาตรา ๑๖ แล้ว ๓๐ วัน รัฐสภาอาจเรียกประชุมเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการใช้มาตรา ๑๖ ต่อไป และเมื่อใช้มาตรา ๑๖ แล้ว ๖๐ วัน รัฐสภาอาจประกาศยกเลิกการใช้มาตรา ๑๖ ได้ทันทีหากเห็นสมควร นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. ๑๙๕๘ กำหนดให้สภาสามารถยื่นฟ้องประธานาธิบดีต่อศาลสูงสุดในข้อหาทรยศต่อชาติได้ ซึ่งทำให้สภามีอำนาจมากเมื่อเทียบกับอำนาจของประธานาธิบดีตามมาตรา ๑๖ ซึ่งเป็นการคานอำนาจประธานาธิบดี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสยังมีมาตรา ๔๙ วรรคสาม ให้รัฐบาลสามารถใช้วิธีขอความไว้วางใจจากสภาโดยการผูกโยงกับการเสนอร่างรัฐบัญญัติที่สำคัญของรัฐบาลอีกด้วย ศจ. Troperกล่าวในตอนท้ายว่า กลไกของฝรั่งเศสไม่อาจเป็นต้นแบบสำหรับทุกประเทศได้ แต่สามารถนำมาศึกษาในฐานะที่เป็นบทเรียน และเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดวิธีการใช้บังคับรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญจึงไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถตีความให้เข้ากับบริบททางการเมืองในแต่ละยุคได้ โดยการวางกลไกที่เหมาะสมในรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ