รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 11, 2014 11:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 เมษายน 2557

Summary:

1. ธ.กรุงเทพ คงเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อธ.พาณิชย์ปี 57 อยู่ที่ช่วงร้อยละ 5-7

2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. มูลค่าการส่งออกจีน เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -6.6 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -11.3

Highlight:

1. ธ.กรุงเทพ คงเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อปี 57 อยู่ที่ช่วงร้อยละ 5-7
  • นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอลงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่หากภาคการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น อาจมีความหวังว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 57 จะเริ่มกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น ดังนั้นธนาคารฯ จึงคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปี 57 ไว้ที่ช่วงร้อยละ 5-7 โดยให้เหตุผลว่าการประมาณการณ์ดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจากเครื่องชี้สถานการณ์ล่าสุด ภาคการเงินไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง โดยสินเชื่อและเงินฝากของสถาบันการเงินไทยในปี 56 ที่ผ่านมา ขยายตัวร้อยละ 9.2 และ 9.9 ตามลำดับ และยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องในเดือนม.ค. - ก.พ. 57 ที่ร้อยละ 8.6 และ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 57 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อาจส่งผลให้ทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไทยเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. 57 ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 ในเดือนมี.ค. 57 บ่งชี้ถึงต้นทุนทางการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนด้านการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนไทยและส่งผลดีต่อการเติบโตของสินเชื่อระบบสถาบันการเงินไทยได้ในระยะต่อไป
2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซียรายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ผลจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 8.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในส่วนการผลิตในภาคเหมืองแร่แม้ว่าจะยังคงหดตัวร้อยละ -1.4 แต่มีแนวโน้มหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้นในเดือน ก.พ. 57 เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของมาเลเซียที่ยังคงแข็งแกร่ง การบริโภคภาคเอกชน (คิดเป็นร้อยละ 52.0 ของ GDP ปี 56) ที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ เดือน ก.พ. 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในส่วนภาคการส่งออก (คิดเป็นร้อยละ 90.5 ของ GDP ปี 56) มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.3 อันเป็นผลจากการส่งออกไปสิงคโปร์และจีนที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 14.9 และ 23.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าการส่งออกไปจีนจะยังคงขยายตัวในระดับสูง แต่มีแนวโน้มชะลอลงเรื่อยๆ โดยจีนเป็นคู่ค้าหลักอันดับ 2 ของมาเลเซีย ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจีนที่จะกระทบต่อภาคการส่งออกของมาเลเซียจึงเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ มาเลเซียยังคงมีปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งแม้ว่าในปี 56 รัฐบาลมาเลเซียจะสามารถลดการขาดดุลเหลือร้อยละ 3.9 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 4.0 ของ GDP ผ่านการลดรายจ่ายภาครัฐและเงินอุดหนุนต่างๆ แต่การลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ภายในปี 58 ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ทางการมาเลเซียต้องเผชิญ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5-5.5)
3. มูลค่าการส่งออกจีน เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -6.6 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -11.3
  • ทางการจีนประกาศมูลค่าการส่งออกจีน เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับมูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวค่อนข้างมาก ทำให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 57 กลับมาเกินดุลอีกครั้งที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.1 ทำให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 57 หดตัวร้อยละ -3.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูง เพราะการปลอมแปลงเอกสารการส่งออกเพื่อโอนย้ายเงินตราในช่วงต้นปี 56 จึงทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวสูงเกินความเป็นจริง สำหรับมูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวในอัตราต่ำที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการชะลอลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย HSBC ที่ลดระดับลงติดต่อกันมา 5 เดือน และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุดติดต่อกัน 2 เดือน คือที่ระดับ 48.5 จุด ในเดือน ก.พ. 57 และระดับ 48.1 จุด ในเดือน มี.ค. 57 โดยการหดตัวอย่างมากของมูลค่าการนำเข้านี้จึงส่งผลให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 57 กลับมาเกินดุลเล็กน้อยที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ขาดดุลมากถึง 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า
  • ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจจีนจะส่งสัญญาณชะลอลง ทางการจีนยังคงคงเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ประมาณร้อยละ 7.5 สำหรับปี 57 โดยทางการจีนจะประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 57 ในวันที่ 16 เม.ย. 57 นื้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ