รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 18, 2014 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 เมษายน 2557

Summary:

1. หอการค้าไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.0 หรือต่ำกว่า

2. มูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ของจีนขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. หอการค้าไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.0 หรือต่ำกว่า
  • นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการหอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.0 หรือต่ำกว่า โดยปัจจัยลบคือการเมืองภายในประเทศซึ่งจะส่งผลกดดันให้การลงทุนและการใช้จ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนชะลอลง ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยบวกจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งแม้น่าจะยังพอขยายตัวได้ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนและอาจต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลบวกผ่านช่องทางการส่งออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจากการคาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.1 - 3.1) เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อ และได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยว ประกอบกับการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม อย่างไรก็ตาม การส่งออกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวในภาคการจ้างงานอย่างชัดเจน และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยคาดว่าการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 57 ให้ยังสามารถขยายตัวได้
2. มูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.9
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์รายงาน มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 11.1 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปยูโรโซนที่กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 15.3 จากเช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 6.6 ผลจากการนำเข้าสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงพลังงานที่ขยายตัวร้อยละ 29.0 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน มี.ค. 57 เกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์จะขยายตัวชะลอลง จากการส่งออกไปยังยูโรโซนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 และคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 56 แต่เมื่อพิจารณาการส่งออกไปยังคู่ค้าอื่นๆ คู่ค้าอันดับที่ 1 มาเลเซีย (ร้อยละ 12.2 ของการส่งออกรวมในปี 56) ขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากค่าเฉลี่ยในเดือน ม.ค. -ก.พ. 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ไม่มากนัก ในส่วนคู่ค้าอันดับต่อมา คือ จีน (ร้อยละ 11.8) ฮ่องกง (ร้อยละ 11.2) และ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 9.9) ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นจากค่าเฉลี่ยในเดือน ม.ค. -ก.พ. 57 ที่ร้อยละ 27.8 12.3 และ 3.7 ตามลำดับจึงอาจถือได้ว่าภาคการส่งออกของสิงคโปร์ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับการประกาศ GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 57 ที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากภาคบริการขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 5.3 แต่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการก่อสร้างยังคงแข็งแกร่งโดยขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 8.0 และ 6.5 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 และ 5.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. ณ เดือน มี.ค. 57 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ช่วงคาดการณ์ 3.3 - 4.3)
3. GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ของจีนขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส
  • สศค. วิเคราะห์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ที่ร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือที่ร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากที่ร้อยละ 7.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งกำหนดโดยทางการจีนที่ร้อยละ 7.5 แต่ยังคงอยู่เหนือระดับเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.3 โดยการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสนี้ เป็นผลจากการแผ่วลงของทั้งการบริโภค การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 13.5 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนในสินทรัพย์คงทนขยายตัวร้อยละ 17.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 19.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และการส่งออกหดตัวร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อและปริมาณเงินในระบบที่ขยายตัวชะลอลง โดยการแผ่วลงของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับทิศทางตามนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีความยืดหยุ่นกับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 7.5 ตราบเท่าที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 ล้านตำแหน่งในปี 57 และให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซี่งในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาได้มีการดำเนินนโยบายสำคัญหลายด้าน เช่น การขยายกรอบการแลกเปลี่ยนเงินหยวนประจำวัน ทั้งนี้ ทางการจีนได้เรียกส่งสัญญาณเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนว่าจะไม่ปล่อยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนลดต่ำลงจนเกิดไป โดยในเดือนที่ผ่านมาทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก และล่าสุดในสัปดาห์นี้ ได้ประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองเงินของธนาคารพาณิชย์และสหกรณ์ท้องถิ่นลง เพื่อเป็นการขยายบริการทางการเงินให้แก่ประชาชนในเขตชนบท โดยสรุป แม้ทางการจีนจะมุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว แต่ในระยะสั้นทางการจีนก็ได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะพยุงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ