รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 11, 2014 11:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1.สศก.เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตร และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ต.ค. 57 ภาพรวมลดลง

2.สอท.เปิดโพลล์แรงงาน ฉุดความสามารถแข่งขัน ไทยรั้งท้ายอาเซียน

3.อัตราเงินเฟ้อจีนคงที่ในเดือน ต.ค. 57

1. สศก.เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตร และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ต.ค. 57 ภาพรวมลดลง
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตร ประจำเดือนตุลาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (ปี 2556) ภาพรวมลดลง ร้อยละ 8.62 สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนตุลาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (ปี 2556) พบว่า ภาพรวมผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.16
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สินค้าเกษตรที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา กุ้งขาว ไก่เนื้อ และไข่ไก่ โดยข้าวเปลือกเจ้า ราคาลดลงเนื่องจากไม่มีมาตรการแทรกแซงด้านราคา ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว กุ้งขาว ราคาลดลงเนื่องจากคุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งความต้องการตลาดลดลง ไก่เนื้อและไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสุกร โดยมันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากตลาดยังมีความต้องการทั้งเพื่อการผลิตอาหารสัตว์และเป็นพลังงานทดแทน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสุกร ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 57 ดัชนีฯ ขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 (m-o-m SA) สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร (API) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และสุกร สำหรับสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ และไข่ไก่ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 57 ดัชนีฯขยายตัวได้ร้อยละ 7.6 (m-o-m SA)
2. สอท.เปิดโพลล์แรงงาน ฉุดความสามารถแข่งขัน ไทยรั้งท้ายอาเซียน
  • รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ด้านแรงงาน เปิดเผยถึงภาวะแรงงานในขณะนี้ ว่า ในปัจจุบันธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง 2.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 4.ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และ 5.ก่อสร้าง ทั้งนี้ สอท. คาดว่าในปี 60 ภาคอุตสาหกรรมจะมีแรงงานประมาณ 4.08 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.81 แสนคน จากปี 56 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานของภาคอุตสาหกรรมไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงงานประเภทไร้ฝีมือที่มีไม่เพียงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจากอุตสาหกรรมดังกล่าว 5 อุตสาหกรรมหลักที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น นอกจากนี้ ในภาคอุตสาหกรรมยังมีปัญหาเรื่องการรับแรงงานเข้าทำงานที่ไม่ตรงกับวิชาชีพที่เรียนมา ทำให้เกิดการเข้า-ออกของแรงานในอัตราสูง ประกอบกับค่านิยมทางการศึกษาของเด็กไทยที่นิยมศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากกว่าสายอาชีพ จนนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต โดยข้อมูล (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) พบว่า แรงงานในภาคการผลิตช่วง 10 เดือนแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 7.9 หมื่นคน สะท้อนได้ว่าความต้องการแรงงานในสาขาการผลิตของไทยยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
3. อัตราเงินเฟ้อจีนคงที่ในเดือน ต.ค. 57
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับขึ้นร้อยละ 1.6 ในเดือน ต.ค. 57เมี่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และอยู่ในอัตราคงที่เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ -2.2 เมี่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ในช่วงขาลงติดต่อกันมานานนับเดือนแล้ว การปรับขึ้นในดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ต่ำกว่าที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายสำหรับปีนี้ที่ร้อยละ 3.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากดัชนีราคาผู้บริโภคจีนที่มีการปรับตัวลดลงเรื่อยๆ โดยในไตรมาส 3/57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ลดลงจากไตรมาส 2/57 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งหากดัชนีฯ มีการลดลงเรื่อยๆ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเงินฝืด กอปรกับดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ต.ค. 57 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (HSBC/Markit) ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 52.9 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ซึ่งสะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับต่ำ และสะท้อนถึงการบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนร้อยละ 35.7 ของ GDP) มีการชะลอตัวลง โดย สศค.คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.7 (ประมาณการ ณ ต.ค. 57) ซึ่งต้องติดตามการออกนโยบายของรัฐบาลเพื่อพยุงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ