รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2015 13:34 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 2.53 ล้านล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ม.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร ของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้น 257,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม
  • รายได้เฉลี่ยภาคเอกชนของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 848.41 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์
  • มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.3 มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ-20.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 39.2 จุด
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators         Forecast     Previous
Jan: API (%yoy)       2.2         -4.8
  • จากผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อย และหอมแดงที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในเดือน ม.ค. นี้ เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตดังกล่าวเป็นสำคัญ ในส่วนของหมวดปศุสัตว์คาดว่าจะขยายตัวได้เป็นปกติเช่นกัน
Economic Indicators: This Week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ธ.ค. 57 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 2.53 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อยตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ โดยลดลงจากหลักทรัพย์ซึ่งปราศจากภาระผูกพันที่ลดลง อย่างไรก็ดี สินทรัพย์สภาพคล่องในส่วนของเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและเงินสดที่ธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมสภาพคล่องสำหรับรองรับการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเงินรับฝาก ในเดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ม.ค. 58 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี ขณะที่เดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี อย่างไรก็ตามภายหลังขจัดผลทางฤดูกาล ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อเดือน สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงทรงตัว
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 58 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.8 จากผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อย และหอมแดงที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในเดือน ม.ค. นี้ เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตดังกล่าวเป็นสำคัญ ในส่วนของหมวดปศุสัตว์คาดว่าจะขยายตัวได้เป็นปกติเช่นกัน

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้น 257,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะในภาคค้าปลีก ก่อสร้าง บริการสุขภาพ กิจกรรมทางการเงิน และการผลิตอย่างไรก็ตาม อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนรายได้เฉลี่ยภาคเอกชน เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 848.41 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากรายได้ในภาคเหมืองแร่ ก่อสร้าง การขนส่ง และการผลิตที่ลดลง ด้านดุลการค้า เดือน ธ.ค. 57 ขาดดุลเพิ่มขึ้นที่ 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่เป็นผลจากมูลค่านำเข้าที่เร่งขึ้นมากกว่ามูลค่าส่งออก โดยมูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าทุกประเภทที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ยกเว้น สินค้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเร่งตัวการนำเข้าของสินค้าทุกประเภท

China: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน จากการส่งออกไปยังตลาดหลักที่หดตัวลงทั้ง ฮ่องกง ยูโรโซน และญี่ปุ่น และการส่งออกไปยังตลาดอื่นที่ขยายตัวชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -20.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 6 ปี สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซาลงอย่างยิ่ง การนำเข้าที่หดตัวในอัตราสูงได้ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 58 เกินดุลสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเกินดุลการค้าที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.5 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการชะลอลงต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งส่งผลให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าธนาคารกลางจีนจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์

Japan: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 39.2 จุด สะท้อนความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของครัวเรือนชาวญี่ปุ่นที่เป็นบวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด

Eurozone: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุนและพลังงานที่หดตัวชะลอลง

Australia: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ของกำลังแรงงานรวม สูงสุดในรอบ 12 ปี 7 เดือน จากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานรวมที่ลดลงมาที่ 64.8 ของวัยแรงงาน และการจ้างงานแบบเต็มเวลาที่ลดลง

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ผลจากยอดขายสินค้าประเภทเครื่องเขียนและการสื่อสาร อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าเชื้อเพลิง ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 35.9 16.5 และ 11.9 ตามลำดับ

Malaysia: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากภาคเหมืองแร่ การค้าปลีกและส่ง และการคมนาคมขนส่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดภาคการผลิตที่ขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัว 4.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าหมวดอาหาร เนื้อสัตว์ ผัก เคมีภัณฑ์ และสินค้าภาคการผลิตที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าว เกินดุล 9.2 พันล้านริงกิต

Philippines: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 57 กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปญี่ปุ่นและจีน (สัดส่วนร้อยละ 21.3 และ 12.4 ของมูลค่าส่งออกรวมปี 56) ที่กลับมาหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -3.2 และ -27.5 ตามลำดับ

Taiwan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ -2.8 ในเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปจีนที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราสูงอีกครั้ง ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 58 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ -12.3 ในเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 58 เกินดุล 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

UK: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ - 0.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยการขยายตัวมาจากภาคการผลิต เป็นหลัก โดยเฉพาะการผลิตสินค้าคงทนและสินค้าทุน ขณะที่การหดตัวมาจากภาคเหมืองแร่และพลังงาน ทำให้ทั้งปี 57 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.5

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ผันผวนและกลับมาปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่งในช่วงปลายสัปดาห์ หรือในวันที่ 12 ก.พ. 58 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,613.40 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 55,736 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนชาวต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ โดยหุ้นกลุ่มสื่อสารและอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,820.11 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 1-13 bps จากแรงขายของนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยตลาดจับตามองในประเด็น ดังนี้ (1) การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนนี้ (2) ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 ก.พ. 58 นี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 1,697.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยวันที่ 12 ก.พ. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ 32.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.11 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ยกเว้น หยวน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.45 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 12 ก.พ. 58 ปิดที่ 1,223.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,240.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ