รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 3 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2015 11:50 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.6
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ. 58 เกินดุล 3,508.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 58 คิดเป็นร้อยละ 46.8 ของ GDP
  • อัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 58 ทรงตัวในระดับเดียวกันกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -14.8
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 67.1
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 ปี 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators             Forecast   Previous
Feb: Motorcycle (%YOY)   -1.7       0.7
  • จากการหดตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคเป็นหลัก เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำต่อเนื่อง และผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมจะยังคงหดตัวจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถจักรยานยนต์ ให้หดตัวเช่นกัน
Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.5 เนื่องมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก รวมถึงการลดลงของราคาไข่และผลิตภัณฑ์นม และราคาเนื้อสัตว์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสแรกของปี 58 หดตัวร้อยละ -3.7 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ. 58 เกินดุล 3,508.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล สูงถึง 2,506.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นที่ระดับ 2,568.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มูลค่าการส่งออกยังคงหดตัว ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับ 939.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายรับด้านการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,720.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.8 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 62.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP โดยหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) คิดเป็นร้อยละ 97.2 ของยอด หนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 94.0 ของยอดหนี้สาธารณะ
  • การจ้างงานเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลง 2.8 แสนคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ในขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะภาคบริการจากสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการศึกษา สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.78 แสนคน
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 58 มียอดคงค้าง 15.42 ล้านล้านบาท ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลจากทั้งสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อแยกประเภทของสินเชื่อพบว่า สินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 58 มียอดคงค้าง 16.59 ล้านล้านบาท ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม อาหารและเครื่องแต่งกาย เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แอร์ ตู้เย็น พัดลม และเครื่องประดับ ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 3.2
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -14.8 เมื่อหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.5 ทำให้ 2 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคการก่อสร้างยังคงชะลอตัว
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 67.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 68.4 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน จากความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ แม้ราคาน้ำมันจะลดลง แต่กำลังซื้อของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย
Economic Indicator: Next Week
  • ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค. คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.7 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 จากการหดตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคเป็นหลัก เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำต่อเนื่อง และผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมจะยังคงหดตัวจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถจักรยานยนต์ ให้หดตัวเช่นกัน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับการประกาศครั้งก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทำให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 101.3 จุด สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.8 จุด โดยเป็นผลมาจากดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น ดัชนี้ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีเกือบทุกหมวดย่อยนอกจากดัชนีราคาที่ปรับตัวลดลง

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ -3.7 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ -6.7 จุดในเดือนก่อน และสูงสุดในรอบ 7 ปี ด้านอัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 58อยู่ที่ร้อยละ 11.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจาก ร้อยละ 11.4 ในเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจาก -0.3 ในเดือนก่อนด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 52.2 จุด สูงที่สุดในรอบ 10 เดือน จากสถานการณ์ที่ดีขึ้นในเยอรมัน สเปน และอิตาลี

Japan: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน จากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ยกเว้น เครื่องใช้ในสำนักงาน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเชื้อเพลิงพลังงานที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด ลดลงจากระดับ 51.6 จุดในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังคงเกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่ยังคงขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 57 ที่ผ่านมา

China: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด กลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดอีกครั้งแม้ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน มี.ค. 58 จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.1 จุด หลังจากอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด 2 เดือนติดต่อกัน ด้านดัชนีฯ ภาคบริการ (NBS) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด จาก 53.9 จุดในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ภาคบริการ (HSBC/Markit) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 52.3 จุด เพิ่มขึ้นจาก 52.0 จุดในเดือนก่อน

Taiwan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อน แต่ยังอยูเหนือระดับ 50.0 จุด เป็นเดือนที่ 20

United Kingdom: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทำให้ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 จากการประกาศครั้งก่อน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 4.0 จุด ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.0 จุดในเดือนก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/CIPS) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด สูงสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ ภาคก่อสร้าง (HSBC/CIPS) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 57.8 จุด ลดลงจาก 60.1 จุด ในเดือนก่อน และต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

Singapore: worsening economic trend

ดัชนี้ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด ต่ำกว่า 50 จุดต่อเนื่อง 4 เดือน ผลจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

India: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.1 จุด จากยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้น

Australia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -6.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่หดตัวต่อเนื่องมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดการนำเข้าสินค้าเกือบทุกหมวดที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นสินค้าหมวดพลังงานและบริการ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลลดลงที่ -357 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

South Korea: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -3.3 ในเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -15.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวในอัตราสูงติดต่อเป็นเดือนที่ 3 ทำให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 58 เกินดุล 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

Hong Kong:improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวจากที่หดตัวร้อยละ -14.5 ในเดือนก่อน จากปัจจัยฐาน ซึ่งวันตรุษจีนเริ่มในเดือน ม.ค. เมื่อปีก่อน ในขณะที่ ในปีนี้เริ่มในเดือน ก.พ. ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด ลดลงจาก 50.7 ในเดือนก่อน และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับ 1,500 จุด โดย ณ วันที่ 2 เม.ย. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,532.23 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 43,100 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ภายหลังการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิสูงถึง 337.9 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-9 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ภายหลังการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกดังกล่าว โดย T-bills และพันธบัตร ธปท. ที่มีการประมูลภายในอาทิตย์นี้ ได้รับความสนใจจากนักลงทุน 1.52 และ 2.07 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 6,807.0 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 2 เม.ย. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.12 จากสัปดาห์ก่อน โดยเป็นไปตามทิศทางของเงินวอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน ขณะที่เงินเยน ยูโร และริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าลง ถึงแม้ดอลลาร์สหรัฐจะค่อนข้างทรงตัวก็ตาม ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระดับใกล้เคียงกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 2 เม.ย. 58 ปิดที่ 1,201.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่1,185.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ