รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 3, 2015 10:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2558

Summary:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนพ.ค.หดตัวร้อยละ -1.27 ติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 5

2. ธ.ไทยพาณิชย์ เผยครึ่งหลังปี 58 เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณดีขึ้น

3. ธนาคารกลางอินเดียมีมติลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 7.25

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนพ.ค.หดตัวร้อยละ -1.27 ติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 5
  • ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศหรืออัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. 58 เท่ากับ 106.53 ลดลงร้อยละ -1.27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกโดยเฉลี่ยในประเทศปรับตัวลดลง ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 ดีเซล เบนซิน 95 และค่าไฟฟ้าที่ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ลง 9.35 สตางค์ต่อหน่วย มีผลตั้งแต่เดือนพ.ค. - ส.ค. 58 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรกปี 58 (ม.ค.-พ.ค.) ยังลดลงร้อยละ -0.77 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่องส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางด้านอุปทาน จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าสำคัญในตะกร้าเงินเฟ้อ โดยมีสัดส่วนในปีฐานสูงถึงร้อยละ 15.6 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีอาจมีตัวแปรนโยบายสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อโดยตรง อาทิ การปรับราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนจริง โดยเฉพาะ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และ ก๊าซธรรมชาติ (NGV) หรือนโยบายภาษีต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะปรับลดลงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.2 (โดยมีช่วงประมาณการที่ร้อยละ -0.3 ถึง 0.7) ตามแนวโน้มการปรับลดลงของราคาน้ามันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสินค้าในประเทศ คาดการณ์ ณ เม.ย. 58 และจาก Macro Model หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์/บาร์เรล จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ต่อปี
2. ธ.ไทยพาณิชย์ เผยครึ่งหลังปี 58 เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณดีขึ้น
  • ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ เผยขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุด และเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น หากในครึ่งหลังปี 58 รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายและผลักดันการลงทุนจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง (โลจิสติกส์) โรงพยาบาล และธุรกิจร้าค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 58 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยในครึ่งหลังของปีคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.5 -4 ต่อปี ซึ่งเร่งขึ้นจากครึ่งปีแรก จากสาเหตุหลัก 1) การส่งออกบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวในระดับสูง พบว่าเดือนเม.ย.58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาไทยทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.3 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเดือน (mom_sa) ส่งผลให้ 4 เดือนแรกปี 58 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยทั้งสิ้น 10.1 ล้านคน ในภาพรวมเดือนพ.ค.58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1.24 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 41.1 ต่อปี ทั้งปี คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 29.4 ล้านคน (ช่วงคาดการณ์ที่ 28.4 - 29.4) 2) การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ ในภาพรวมเดือนเม.ย.58 ปีงปม. จำนวน 191.5 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.2 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 58 ช่วง 7 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 1,503.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 58.4 ของวงเงินงบประมาณ (2,575.0 พันล้านบาท) คาดทั้งปี 58 อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 9.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ 7.5 -11.5)
3. ธนาคารกลางอินเดียมีมติลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 7.25
  • ธนาคารกลางอินเดีย มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 7.25 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 7.50 ซึ่งนับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของปีนี้โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1. เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากไตรมาสที่ 4 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ตามการเร่งขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นสำคัญ 2. การที่รัฐบาลอินเดียตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ส่วนหหนึ่งเป็นผลจากความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อทดแทนการค้าระหว่างประเทศที่หดตัว สะท้อนจากการส่งออกในเดือนเม.ย. ปี 58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าปรับตัวลดลง จากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้ออินเดียในเดือน เม.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 3. สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 จากปี 57 ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 58

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ