รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6 - 10 กรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 13, 2015 11:53 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน พ.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.62 ล้านล้านบาท จากการถือหลักทรัพย์ซึ่งปราศจากภาระผูกพันและการสำรองเงินสดที่ธนาคารลดลง สอดคล้องกับสินทรัพย์สภาพคล่องสูงที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.85 แสนล้านบาท ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินคิดเป็น 3.5 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงตามกฎหมาย (ร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 63.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 65.0 เป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และลดลงต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน จากความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์ การส่งออกที่ยังไม่ส่งสัญญาณดีขึ้น กอปรกับปัญหา ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบซ้ำเติมราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำจากอุปสงค์ในตลาดโลก ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มิ.ย. 58 มีจำนวน 190,496 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังจากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว นับเป็นการกลับมาขยายตัวได้หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า ที่ร้อยละ -5.4 โดยเป็นการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาค โดยเขตกรุงเทพฯ มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 และเขตชนบทขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้ภาคเกษตรกรที่หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และผลของการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนข้าราชการ ที่ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่ามีกำลังซื้อมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า กอปรกับสองเดือนก่อนหน้ามีการชะลอการบริโภครถจักรยานยนต์ไปแล้ว สะท้อนจากยอดจำหน่ายที่หดตัว ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์รวมทั้งประเทศในไตรมาส 2/58 หดตัวร้อยละ -2.9
Economic Indicator: Next Week
  • การจ้างงานเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 38.23 ล้านคน หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.6 โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพื่มขึ้นมาจากสาขาการขายส่งการขายปลีก สาขาการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และการก่อสร้างเป็นสำคัญ ส่งผลให้การจ้างงานใน ไตรมาส 2/58 ยังคงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ อัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.22 แสนคน
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 58 หดตัว อยู่ที่ร้อยละ -4.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.3 ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้าง ในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในเดือน มิ.ย. 58 ที่หดตัวร้อยละ -12.4 เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงและราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลง
Economic Indicator: Next Week
  • ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือน มิ.ย. 58 คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวที่ร้อยละ -0.5 เนื่องจากการเร่งการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดุลการค้า เดือน พ.ค. 58 ขาดดุลลดลงที่ 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากสินค้าอุตสาหกรรมและอาหารที่หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -7.2 จากสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัว ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 56.0 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 55.7 จุด ผลจากดัชนีด้านกิจกรรมทางธุรกิจและสินค้าคงค้างที่เพิ่มขึ้น

China: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่เริ่มกลับมาขยายตัวเร่งขึ้น

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 54.2 จุด สูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยดัชนีฯ เพิ่มสูงขึ้นทั้งดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด และดัชนีฯ ภาคบริการที่อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด ทั้งนี้ มีสัญญาณฟื้นตัวในทุกประเทศยกเว้นกรีซ ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.24 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการขยายตัวในสินค้าหมวดอาหาร ขณะสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงขยายตัวชะลอลง ในวันที่ 5 ก.ค. 58 ชาวกรีกลงคะแนนร้อยละ 61 ไม่รับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดของกลุ่มเจ้าหนี้ ทำให้ความตึงเครียดในการเจรจาเงื่อนไขของการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ กรีซได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 58 ซึ่งกลุ่มเจ้าหนี้จะพิจารณาในวันที่ 12 ก.ค. 58

Japan: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับ 42.4 จุด สะท้อนมุมมองผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เป็นบวกมากขึ้น

Indonesia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายเชื้อเพลิง และอะไหล่และส่วนประกอบที่ยังคงหดตัว

Malaysia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐและกลุ่มเอเชียที่หดตัว ขณะที่มูลการนำเข้า หดตัวร้อยละ -7.2 จากสินค้าเกือบทุกหมวดที่หดตัว ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าว เกินดุลมูลค่า 5.5 พันล้านริงกิต

Australia: mixed signal

การจ้างงาน เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 11.769 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7,300 คน จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการจ้างงานเต็มเวลาอยู่ที่ 8.156 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24,600 คนจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การจ้างงาน part-time อยู่ที่ 3.612 ล้านคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงาน เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.0 ของกำลังแรงงานรวม สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากแรงงานที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการจ้างงาน โดยอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 64.8 ของประชากรวัยแรงงาน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน

India: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 47.7 จุด ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 3 เดือน ผลจากดัชนีย่อยหมวดงานใหม่ปรับลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 6 เดือน

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -17.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวมากที่สุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน จากการส่งออกจีนที่หดตัวขึ้นมาก อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับลดลง ยอดขายสุทธิ เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และสื่อสิ่งพิมพ์ที่หดตัวมากขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากอาหาร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเครื่องจักรไฟฟ้า

United Kingdom: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนพ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการขยายตัวของสินค้าบริโภคไม่คงทน และสินค้าพลังงาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการหดตัวในหมวดเคมีภัณฑ์ โลหะ แร่ธาตุ อุปกรณ์อื่นๆ ผลิตภัณฑ์จากไม้และกระดาษ และอุปกรณ์ทางวิศวกรรม เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 58 ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี

South Korea: mixed signal

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 58 ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ ร้อยละ 1.5 ต่อปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สออกมาแล้ว

Taiwan: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ด้านมูลค่าการส่งออกเดือน มิ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -13.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -16.1 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทำให้ดุลการค้าเดือน มิ.ย. 58 เกินดุล 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ผันผวนสูงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยปิดตลาด ณ วันที่ 9 ก.ค. 58 มาอยู่ที่ระดับ 1,472.57 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเบาบาง เฉลี่ยทั้งสัปดาห์ที่ 35,322 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากความกังวลของนักลงทุนในประเด็นการเจรจาหนี้ของกรีซที่ยังคงยืดเยื้อ อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์จีนมีสัญญาณฟองสบู่แตก ทำให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 9 ก.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 6,908 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง 1-15 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติจากการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 และ 6 เดือน และพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark bond อายุ 5 และ 30 ปี ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนถึง 1.69 2.96 2.99 และ 2.93 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 9 ก.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 730.1 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 9 ก.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 33.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ 0.58 จากสัปดาห์ก่อน และระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 ปี ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงในระดับที่มากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะเยนที่กลับแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 0.53 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ