รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2015 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 กันยายน 2558

Summary:

1. คัด 50 เมืองทั่วโลกเจาะตลาดส่งออก

2. ธปท. หั่นจีดีพีเหลือร้อยละ 2.7 ชิ่งส่งออกไทยหนักติดลบร้อยละ -5.0

3. ดอลลาร์อ่อนผลักราคาน้ำมันเด้ง

1. คัด 50 เมืองทั่วโลกเจาะตลาดส่งออก
  • รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุด 50 อันดับแรก เพื่อทำแผนผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับทั้ง 50 เมืองในปีหน้า โดยจะให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศศึกษารายละเอียดในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค อาชีพ รายได้ ความชอบ ชีวิตความเป็นอยู่ เป็นเมืองท่องเที่ยว หรือเมืองทำงาน เป็นต้น เพื่อทำแผนการเจาะตลาดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละเมืองให้มากที่สุด และยังจะเน้นไปที่ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยจะใช้รูปแบบผลักดันการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากดูข้อมูลย้อนหลังพบว่า ภาคส่งออกสินค้าของไทยติดลบต่อเนื่องมาแล้ว สองปีในปี 56 และ 57 ที่ร้อยละ -0.26 และ -0.43 ตามลำดับ และมีแนวโน้มที่จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่สามในปีนี้ที่ร้อยละ -4.0 (ประมาณการ ณ เดือนก.ค.) ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงของอุตสาหกรรมส่งออกของไทย โดยยุทธศาสตร์การหาตลาดตามข่าวข้างต้น นับเป็นวิธีการที่น่าสนใจ ทำให้ภาคเอกชนนำโดยภาครัฐมีแผนการส่งออกสินค้าที่ละเอียด และเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจาะตลาดสินค้า อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ที่ดีนั้นจะสำเร็จได้ต้องประกอบไปด้วยคุณภาพของสินค้าและราคาที่สมเหตุผล ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน สินค้าไทยไม่ได้เป็นสินค้าถูกอีกต่อไปจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าแรง ดังนั้น อุตสาหกรรมไทยจึงจำเป็นต้องมีการยกระดับคุณภาพสินค้าผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างเข้มข้นเพื่อปลุกภาคส่งออกของไทยให้กลับมาอีกครั้ง
2. ธปท. หั่นจีดีพีเหลือร้อยละ 2.7 ชิ่งส่งออกไทยหนักติดลบร้อยละ -5.0
  • นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงนโยบายการเงินฉบับเดือน ก.ย. 58 ว่า กนง. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงที่ร้อยละ 2.7 จากประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายนที่ร้อยละ 3.0 และปรับลดจีดีพีปี 59 เหลือโตที่ร้อยละ 3.7 จากเดิมคาดการณ์โตที่ร้อยละ 4.1 เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้น จากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และธปท. ได้ปรับลดประมาณการส่งออกปีนี้ติดลบร้อยละ -5.0 จากเดิมติดลบที่ร้อยละ 1.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5-3.5) ประมาณการ ณ ก.ค. 58 โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ แต่คาดว่าจะเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จากนโยบายการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล และการใช้จ่ายนอกงบประมาณเพิ่มเติมอย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปี 58 จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวโดย สศค. คาดว่าการส่งออกในปี 58 จะหดตัวที่ร้อยละ -4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -6.0 ถึง -2.0) ประมาณการ ณ ก.ค. 58 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ต.ค. 58
3. ดอลลาร์อ่อนผลักราคาน้ำมันเด้ง
  • เงินเหรียญสหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงจากการคาดการณ์ของตลาดต่อท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีทีท่าว่าจะเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นภายในปีนี้ การอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้น้ำมันดิบซึ่งซื้อขายกันในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัส ณ เดือน พ.ย. 58 ปิดล่าสุดที่ระดับ 44.91 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 43 เซนต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.0 ด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ ณ เดือน พ.ย. 58 ปิดล่าสุดที่ระดับ 48.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 42 เซนต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐน่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจาก ประการแรก การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และเงินสกุลดังกล่าวก็จะกลับมาในทิศทางแข็งค่าซึ่งจะกดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงและประการที่สอง ปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์และอุปทานต่อน้ำมันดิบโลกยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อุปทานยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดผลผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งที่ 1.9 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ทำให้กำลังการผลิตรวมขึ้นมาอยู่ที่ 9.14 ล้านบาร์เรล ต่อวัน นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ในฝั่งอุปสงค์ตัวเลข Refinery Utilization ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ก่อนหน้า ปรับลดลงร้อยละ 2.2 จากอุปสงค์ที่ชะลอลง และการปิดปรับปรุงโรงกลั่นตามฤดูกาล ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนก็ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบจากปัจจัยค่าเงินจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับต่ำต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ