รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2015 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558

Summary:

1. นายกฯ ย้ำรัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจใหญ่และเชื่อมโยงต่างประเทศ

2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย คนกรุงเทพฯ วางแผนเที่ยวในประเทศช่วง Q4/58 เพิ่มขึ้น

3. ทางการสหรัฐฯ ปรับทบทวนเพิ่มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี

1. นายกฯ ย้ำรัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจใหญ่และเชื่อมโยงต่างประเทศ
  • นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดยมีเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการรายใหม่หรือกลุ่มใหม่ที่เริ่มดำเนินธุรกิจภายในปี 2561 และรัฐบาลได้กำหนดให้เรื่อง SMEs เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและปัจจัยภายในประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้เรื่อง SMEs เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างการเติบโตของผู้ประกอบการขนาดเล็กไปสู่ธุรกิจขนาดกลาง ให้มีความสามารถในการเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศได้ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของ SMEs ต่อ GDP ในปี 57 พบว่ามีมูลค่า 5.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.6 ของ GDP โดยแยกเป็น วิสาหกิจขนาดย่อมร้อยละ 27.8 และวิสาหกิจขนาดกลางร้อยละ 11. 8 ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลมาตรการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือ SMEs ล่าสุด ณ 23 พ.ย. 58 พบว่า มี 1 มาตรการเร่งด่วน คือ มาตรการการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ 1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs (Soft Loan SMEs) และ 2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย คนกรุงเทพฯ วางแผนเที่ยวในประเทศช่วง Q4/58 เพิ่มขึ้น
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 58 จำนวนคนกรุงเทพฯ จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันของปี 57 และก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ของไทยมูลค่าประมาณ 40 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 58 น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า รายได้จากคนไทยจากการเยี่ยมเยือนทั้งประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวร้อยละ 15.2 ต่อปี และเมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่า รายได้จากคนไทยจากการเยี่ยมเยือนขยายตัวค่อนข้างสูงในภาคตะวันออก โดย 10 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวร้อยละ 47.9 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกมีการท่องเที่ยวเป็นตัวสนับสนุนตัวหนึ่ง นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยกลุ่มลูกค้าทั่วไปมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนที่มีศักยภาพอาจจะมองหาโอกาสไปยังตลาดเฉพาะกลุ่ม (เช่น ลูกค้าระดับไฮเอนด์ ลูกค้าองค์กร/กลุ่มประชุมสัมมนา เป็นต้น) เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาที่ส่งผลต่อต้นทุนและสภาพคล่องของการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
3. ทางการสหรัฐฯ ปรับทบทวนเพิ่มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี
  • ทางการสหรัฐฯ เผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับทบทวนเพิ่มขึ้นจากประมาณการเบื้องต้นเดิมว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ทั้งนี้ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 เป็นขยายตัวร้อยละ 3.9 สำหรับการปรับทบทวนตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นจาก ประมาณการเบื้องต้นนั้น เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของสต๊อกสินค้าคงคลังในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ได้มีการปรับลดตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคและการส่งออกลงเล็กน้อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับทบทวนตัวเลขการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ที่เพิ่มขึ้นนั้นยังถือว่าชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 58 โดยการขยายตัวของ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ยังคงมีอุปสงค์ภายในประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอและเงินดอลล่าร์แข็งค่า ส่งผลให้ภาคการส่งออกและภาคการผลิตของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่สิ้นสุดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 52 มีการขยายตัวเฉลี่ยอยูที่ประมาณร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 58 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ต.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ