รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 9, 2016 13:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. พาณิชย์จัดโอเพ่นเฮ้าส์ดึงลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

2. รมว.คลัง จี้มหาดไทยเร่งใช้งบ อปท. ค้างท่อ 3 แสนลบ. หวังช่วยพัฒนาท้องถิ่น

3. ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปี 58 พุ่งกว่า 6 เท่า

1. พาณิชย์จัดโอเพ่นเฮ้าส์ดึงลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะจัดคณะนักลงทุนที่สนใจทั้งไทยและต่างประเทศเดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ดำเนินการในระยะที่ 1 และจะใช้โอกาสนี้ ในการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่าง นักธุรกิจไทย และนักลงทุนชาวกัมพูชา ระหว่างวันที่ 1-2 มี.ค. 59 เพื่อสร้างโอกาสลงทุน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งการค้าชายแดนของไทยกับประเทศกัมพูชามีสัดส่วนร้อยละ 11.6 ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดของไทย ถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนที่ไม่สูงมาก แต่การเจริญเติบโตของการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นมีการขยายตัวในระดับสูง โดยในปี 57 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามีมูลค่า 114,466 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22.0 และข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ต้นปี 58 จนถึงเดือน พ.ย. 58 มีการขยายตัวร้อยละ 9.4 สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นๆ ที่ยังคงซบเซา จังหวัดสระแก้วจึงได้รับการส่งเสริมให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรก พร้อมด้วยจังหวัด ตาก มุกดาหาร ตราด และสงขลา ดังนั้น การสนับสนุนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วจะเป็นโอกาสในการดึงดูดให้เกิดการลงทุน การพัฒนาต่อยอดในเขตเศรษฐกิจดังกล่าวให้มากขึ้น และทำให้เกิดมูลค่าทางการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีการเติบโต และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้อีกทางหนึ่ง
2. รมว. คลัง จี้มหาดไทยเร่งใช้งบ อปท. ค้างท่อ 3 แสนลบ. หวังช่วยพัฒนาท้องถิ่น
  • นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว. คลัง เผยได้ประสานให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีเงินคงค้างอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท เพื่อให้มีการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองกับนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้งบประมาณกระจายลงไปสู่ท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้พัฒนาท้องถิ่นส่งผลให้มีเงินคงค้างในบัญชี ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่ได้นำเงินไปดำเนินภารกิจใดๆ จึงได้ให้กระทรวงมหาดไทยไปเร่งผลักดันเพื่อให้นำเงินไปใช้ในการลงทุนท้องถิ่น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเร่งรัดการใช้จ่ายลงทุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวเป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญของการใช้นโยบายเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้จากภายในประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ลงทุนตำบลละไม่เกิน 5 ล้านบาท) และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลที่ ครม. ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 58 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่สนับสนุนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นผ่านกองทุนหมู่บ้าน วงเงินสินเชื่อ6 หมื่นล้านบาท และโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งมีมูลค่า 35,000 ล้านบาทอีกด้วย
3. ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปี 58 พุ่งกว่า 6 เท่า
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในรายงานเบื้องต้นว่ายอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดขยายตัวขึ้นกว่า 6 เท่า ในปี 58 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าสู่ระดับ 16.64 ล้านล้านเยน หรือ ประมาณ 142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยอดการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาก ท่ามกลางเงินเยนที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปี 58 ของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ขณะที่ยอดนำเข้าร่วงลงร้อยละ 10.3 แตะที่ระดับ 75.82 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียว ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 960,700 ล้านเยน ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศญี่ปุ่นต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ และจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงทำให้มูลค่าการนำเข้าลดลงอันเป็นผลดีต่อดุลการค้าของประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิอย่างญี่ปุ่น สอดคล้องกับดุลบริการของญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องโดยในปี 58 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 47.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากเงินเยนที่ยังอยู่ในระดับอ่อนค่าและการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศให้กับนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 58 กลับมาหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีนที่หดตัวต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาการส่งออกทั้งปี 58 พบว่าขยายตัวร้อยละ 3.5 ขณะที่การนำเข้าหดตัวถึงร้อยละ -8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ