รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 7, 2016 11:42 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค. 59 เกินดุล 4,066.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.5
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.พ. 59 หดตัว ที่ร้อยละ -5.0
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -4.6
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวน 144,227 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -11.1
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 59 มียอดคงค้าง 16.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 59 มียอด คงค้าง 17.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.8
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 107.5 หดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 63.5
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัว ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ออสเตรเลีย ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน (เบื้องต้น) เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 59 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                   Forecast    Previous
Feb 16 : cement sale (%YOY)    0.5         -0.3
  • ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ มาตรการลดค่าจดจำนอง และความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นจากแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ โดยเฉพาะสายสีม่วงที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปีนี้
Economic Indicators: This Week
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค. 59 เกินดุล 4,066.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่เกินดุล 4,879.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุลลดลงโดยอยู่ที่ 2,635 และ 1,430.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ โดยดุลการค้าเกินดุลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวสูง ตามราคาน้ำมันและโลหะในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลจากรายรับจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 โดยมีสาเหตุหลักจากการหดตัวของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีการลดลงของราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในบ้าน และค่าโดยสารรถบขส. รถร่วมเอกชนระหว่างจังหวัด รวมถึงค่าไฟฟ้าที่มีการปรับลดลง ตามราคาพลังงาน ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และราคาผักผลไม้ มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.พ. 59 หดตัว ที่ร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัวร้อยละ -12.0 เนื่องจากราคาเหล็กลดลงตามราคาตลาดโลก
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -3.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเหล็กราคาต่ำจากจีนที่เข้ามาแข่งขันเหล็กในประเทศ
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวน 144,227 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.9 หรือคิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -19.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa( โดยปริมาณรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนในเดือน ก.พ. นี้ เป็นการหดตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ (ร้อยละ -0.5) และในเขตภูมิภาค (ร้อยละ -14.2) เนื่องจากผู้บริโภคได้มีการเร่งการบริโภคไปในเดือนก่อนหน้า ที่มีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปีของผู้ประกอบการ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นก่อนหน้านี้ ทำให้ในเดือน ก.พ. นี้ ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลง
Economic Indicators: This Week
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 59 มียอดคงค้าง 16.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อย ที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อเพื่อการบริโภคขยายตัวทรงตัวที่ร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สินเชื่อรวมขยายตัวชะลอลงเนื่องจากสินเชื่อ ที่ให้แก่สถาบันการเงินอื่นที่ไม่รับเงินฝากหดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 59 มียอด คงค้าง 17.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัว ร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงเนื่องจากสถาบันการเงินได้สำรองสภาพคล่อง ไว้ในช่วงก่อนหน้าแล้ว โดยชะลอลงทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ร้อยละ 3.4 และร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI) ในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 107.5 หดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการหดตัวมาจาก การผลิตในหมวดรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องแต่งกาย โดยหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -3.9
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 63.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 64.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า อันเป็นผลมาจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยยังคงไม่ฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกหลัก อาทิ ยางพารา และข้าว ที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและภาวะเศรษฐกิจโลก จึงทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ
Economic Indicator: Next Week
  • ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือน ก.พ. 59 คาดว่าจะขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ มาตรการลดค่าจดจำนอง และความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นจากแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ โดยเฉพาะสายสีม่วงที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปีนี้

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 58 ตัวเลขปรับปรุง ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากการประกาศครั้งก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 49.5 จุด สูงสุดในรอบ 5 เดือน จากราคาและคำสั่งซื้อค้างรับที่เพิ่มขึ้นมาก

China: worsening economic trend

วันที่ 29 ก.พ. 59 ธนาคารกลางจีนปรับลดสัดส่วนดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องลงร้อยละ 0.50 ทำให้สัดส่วนฯ สำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่และขนาดเล็กอยู่ที่ร้อยละ 17.0 และ 15.0 ตามลำดับ ดัชนี PMI ภาค อุตสาหกรรม NBS และ Caixin เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 49.0 และ 48.0 จุด ตามลำดับ ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด เป็นเดือนที่ 7 และ 12 ตามลำดับ ด้านดัชนี PMI ภาคบริการ โดย NBS และ Caixin อยู่ที่ระดับ 52.7 และ 51.2 จุด ตามลำดับ อยู่เหนือ 50.0 จุดต่อเนื่องสะท้อนภาคบริการที่แข็งแกร่ง

Eurozone: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เบื้องต้น เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาพลังงาน ดัชนี PMI รวม ปรับปรุง เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ 53.0 จุด สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นแต่ยังคงต่ำกว่าระดับในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 51.2 จุด ขณะที่ ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 53.0 จุด อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 10.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า ขจัดผลทางฤดูกาล จากยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิง

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เบื้องต้น เดือน ม.ค. 59 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าส่วนใหญ่ที่หดตัว อาทิ เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าทุกหมวดที่หดตัว อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 59 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมและบริการ เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 50.1 และ 51.2 จุด ตามลำดับ โดยเป็นการปรับลดลงทั้ง 2 ภาค

Singapore: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ลดลงอยู่ที่ระดับ 48.5 จุด จากคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง

Hong Kong: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 46.4 จุด ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด เป็นเดือนที่ 12 ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 59 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และเชื้อเพลิงที่ขยายตัว

Taiwan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ลดลงจาก 50.6 จุดในเดือนก่อน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงอ่อนแอ

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าส่งออกและนำเข้า เบื้องต้น เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -12.2 และ -14.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ หดตัวเป็นเดือนที่ 14 และ 17 ติดต่อกัน ทำให้ดุลการค้า เบื้องต้น เกินดุล 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นที่ 3 สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 48.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาอาหาร

UK: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ 50.8 จุด ต่ำสุดในรอบ 34 เดือน ขณะที่ ดัชนีฯ ภาคก่อสร้าง และภาคบริการ อยู่ที่ 54.2 และ 52.7 จุด อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนและ 3 ปี ตามลำดับ

Australia: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า ขจัดผลทางฤดูกาล เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกบริการ ขณะที่การลงทุนหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 58 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.5 มูลค่าส่งออกและนำเข้า เดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -11.9 และ -4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ จากการส่งออกแร่โลหะ ถ่านหิน ถ่านโค้ก และการนำเข้าสินค้าทุน และน้ำมัน ทำให้ดุลการค้าขาดดุล -3.3 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

India: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ทรงตัวที่ 51.1 จุด แต่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่51.4 จุด จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในระดับต่ำ

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 48.7 จุด ลดลงเล็กน้อยจากการปรับลดจำนวนพนักงาน และคำสั่งซื้อที่ลดลงต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 110.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นต่อการหางานทำที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากราคาอาหารและต้นทุนค่าขนส่ง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนในวันที่ 3 มี.ค. 59 โดยดัชนีฯ ปิดที่ 1,379.33 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ โดยเฉพาะในหลักทรัพย์กลุ่มธนาคาร และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เนื่องจากธนาคารกลางจีนการประกาศปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายลงร้อยละ 0.5 ต่อปี รวมถึงตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะมีนโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 10 มี.ค. 59 นี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อในตลาดภูมิภาค ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 ก.พ. - 3 มี.ค. 59 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์สูงถึง 51,899.9 ล้านบาทต่อวัน และทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิสูงถึง 8,506.4 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จากการปรับลดอัตราเงินสดสำรองของจีนดังกล่าว และผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่มีความต้องการสูงถึง 2.9 เท่าของวงเงินประมูล ทำให้มีการเสนอซื้อกันมากในตลาดรอง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 ก.พ. - 3 มี.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 3,175.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 3 มี.ค. 59 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.47 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลอื่นๆ ยกเว้นเยน ยูโร และหยวนที่อ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.47 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ