รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2016 14:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2559

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ค. 59 ปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในปีนี้

2. ผู้ส่งออกปรับขึ้นคาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าวไทยปี 59 เพิ่มขึ้นมาที่ 9.5 ล้านตัน

3. ยอดค้าปลีกออสเตรเลียเดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.5 จากปีก่อน

1. ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ค. 59 ปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในปีนี้
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 61.4 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 60.6 จุดในเดือน มิ.ย. 59 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อจากภาคครัวเรือนและภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ค. 59 ปรับตัวดีขึ้นเป็นหนึ่งในสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจไทยสำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 59 นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินของไทยในปัจจุบันยังเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไปอีกด้วย โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 59 (ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 59) งบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้ของภาครัฐขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ นโยบายการเงินของไทยยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวภาคธุรกิจและการลงทุน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.1 ในเดือน ก.ค. 59 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 59 ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดและภาวะความผันผวนของการเงินโลกจากกรณี Brexit ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)
2. ผู้ส่งออกปรับขึ้นคาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าวไทยปี 59 เพิ่มขึ้นมาที่ 9.5 ล้านตัน
  • นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยคาดการณ์การส่งออกข้าวทั้งปี 59 ว่าอยู่ที่ 9.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 9.0 ล้านตัน โดยคาดว่าการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังของปี 59 จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลที่ตลาดเอเชียและแอฟริกาจะนำเข้าข้าวจากไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ไทยส่งออกข้าวในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ทั้งสิ้น 4.99 ล้านตัน ถือเป็นระดับสูงสุดของโลก หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปริมาณการส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าอินเดียและเวียดนามซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญที่ส่งออกข้าวเพียง 4.76 และ 2.66 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 59 ไทยยังมีความเสี่ยงจากทั้งด้านอุปสงค์จากผู้บริโภคต่างประเทศที่ยังคงกังวลเกี่ยวกับคุณภาพข้าวในสต๊อก และปัจจัยด้านอุปทานจากปริมาณข้าวในตลาดโลกที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาลที่ฝนตกมากขึ้นเป็นผลดีต่อผลผลิตข้าวของทั้งไทยและคู่แข่ง เช่น อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม ทำให้ปริมาณข้าวส่งออกเพิ่มขึ้น และอาจกดดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวลดลง
3. ยอดค้าปลีกออสเตรเลียเดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.5 จากปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อนหน้า และคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกออสเตรเลียเดือน มิ.ย. 59 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของยอดค้าปลีกในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดอาหารซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในเดือนก่อนหน้า หมวดเสื้อผ้าและรองเท้าขยายตัวร้อยละ 10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยยอดค้าปลีกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าการบริโภคภาคเอกชนของออสเตรเลีย ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 55.7 ของ GDP ปี 58 ยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในภาพรวมเศรษฐกิจของออสเตรเลียมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 59 เศรษฐกิจเติบโตที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 59 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในปี 58 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ