รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 24, 2016 15:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2559

Summary:

1. โรงงานได้รง.4 แจ้งประกอบการแล้วร้อยละ 75

2. สศอ. เปิดยุทธศาสตร์ 3 อุตสาหกรรมอนาคต ผลักดันไทยก้าวสู่ประเทศรายได้สูง

3. ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนส.ค.ของยูโรโซนเพิ่มขึ้นแตะ 53.1

1. โรงงานได้รง.4 แจ้งประกอบการแล้วร้อยละ 75
  • ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยยอดโรงงานที่ได้ใบ ร.ง.4 แล้ว ล่าสุดตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 59 มีผู้ที่ได้ใบ ร.ง.4 ทั้งสิ้น 13,225 โรง เงินลงทุน 1.85 ล้านล้านบาท มีแรงงาน 5.91 แสนคน แจ้งประกอบกิจการแล้ว 9,916 โรง คิดเป็นร้อยละ 75 เงินลงทุน 1.3 ล้านล้านบาท แรงงาน 4.56 แสนคน และมีโรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ 3,309 โรง คิดเป็นร้อยละ 25 เงินลงทุน 5.49 แสนล้านบาท แรงงาน 1.34 แสนคน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนที่สะท้อนจากเม็ดเงินการลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59 มีแนวโน้มชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนเพิ่ม สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.59 ที่ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 85.3 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.4 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึง เม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่แบ่งตามรายภูมิภาค (ข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 59) พบว่าล่าสุด ภาคตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลักของไทยมีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดที่ 11,663 ล้านบาท โดยเฉพาะ จ.ระยองและ จ.ชลบุรีที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 6,270.9 และ 4,660.3 ล้านบาท ตามลำดับ รองลงมา คือ กทม. และปริมณฑลมีเม็ดเงินลงทุน 4,751 ล้านบาท โดยเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี และผลิตภัณฑ์พลาสติก จับตา: การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 59
2. สศอ. เปิดยุทธศาสตร์ 3 อุตสาหกรรมอนาคต ผลักดันไทยก้าวสู่ประเทศรายได้สูง
  • นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยผลการศึกษาอุตสาหกรรมอนาคตที่มีศักยภาพของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุงและจะกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวให้สร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อภาคการผลิตของไทย เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.1 ของการดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรวม และในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากในครึ่งปีแรกของปี 59 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี ในขณะที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุงนั้น มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูง ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในระยะต่อไป จับตา: การเติบโตของภาคการผลิตภาคอุตสากรรมในครึ่งปีหลัง
3. ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนส.ค.ของยูโรโซนเพิ่มขึ้นแตะ 53.1
  • ผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนส.ค.ของยูโรโซนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.1 จากระดับ 52.9 ในเดือนก.ค.
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนี PMI ภาคบริการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 53.1 นั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากอยู่ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 50.0 ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจและเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น โดยปัจจัยหลักมาจาก 1) การที่มีธุรกิจใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และ 2) ธุรกิจสามารถผลิตได้มากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณของคำสั่งซื้อที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือน ส.ค. 59 พบว่า ชะลอตัวลงที่ร้อยละ 51.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 52.0 เนื่องจากปริมาณความต้องการบริโภคลดลง ที่พิจารณาจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ที่ยังคงติดลบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจโดยรวม (GDP) ของยูโรโซน โดยในไตรมาส 2/59 ชะลอตัวลงที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ซึ่งยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 59 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี จับตา: เศรษฐกิจยูโรโซนในครึ่งปีหลัง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ