มาตรการกำหนดให้ใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2016 10:29 —กระทรวงการคลัง

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการกำหนดให้ใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยมีหลักการ ดังนี้

1. กำหนดให้ผู้ประกอบการใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ โดยผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้สกุลเงินต่างประเทศต้องขอและได้รับอนุมัติให้ใช้สกุลเงินต่างประเทศนั้น

ในการทำบัญชี หลักฐานและเอกสารประกอบการลงบัญชีตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

พ.ศ. 2514 ทั้งนี้ สกุลเงินต่างประเทศนั้น ต้องเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรฐานการบัญชี และได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชี

2. สกุลเงินต่างประเทศที่ให้ใช้ ได้แก่ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินยูโร สกุลเงินเยน และสามารถเพิ่มเติมสกุลเงินอื่นได้โดยการออกประกาศกระทรวงการคลัง

3. เพิ่มอัตราแลกเปลี่ยนที่ให้ใช้ในการแปลงค่า โดยสามารถใช้อัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารแห่งประเทศไทย (อัตรากลางของ ธปท.) และสามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เกิดรายการได้

4. การกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และการชำระภาษี ยังคงให้ใช้สกุลเงินไทยโดยให้แปลงค่าเงินสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินไทย โดยใช้อัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารแห่งประเทศไทย (อัตรากลางของ ธปท.) สำหรับช่วงเวลาที่เกิดรายได้ รายจ่ายนั้น เช่น การยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี ให้ใช้อัตราถัวเฉลี่ยฯ ของทั้งปี และ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีครึ่งปี ให้ใช้อัตราถัวเฉลี่ยฯ 6 เดือนที่เกิดรายได้ รายจ่าย เป็นต้น

5. วิธีการแปลงค่าเงินตรา หนี้สิน และทรัพย์สิน ที่เหลืออยู่เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่ผู้ประกอบการใช้สกุลเงินไทยในการบันทึกบัญชีเพื่อคำนวณภาษี หรือการแปลงค่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ให้ใช้วิธีการตามมาตรฐานการบัญชี ที่ได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชี ทั้งนี้ กำไรหรือผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอันเกิดจากการแปลงค่าเพื่อการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

6. ภาษีอากรค้าง ผลขาดทุนสุทธิยกมา และเครดิตภาษีของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่เป็นสกุลเงินไทย หรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศแต่ได้แปลงค่าเป็นสกุลเงินไทยเพื่อกรอกแบบฯ แล้ว สามารถนำมาใช้ในการคำนวณภาษีต่อไปได้ โดยไม่ต้องแปลงค่าเป็นสกุลเงินต่างประเทศอีก

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ลดความแตกต่างระหว่างมาตรฐานการบัญชีไทยและแนวปฏิบัติทางภาษี และช่วยลดภาระต้นทุนในการจัดทำรายงานทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดเก็บภาษีที่ดี รวมถึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนมีความสะดวกมากขึ้น โดยสามารถใช้อัตราเดียว (Single Rate) ในการแปลงค่าในทุกกรณี

สำนักวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร

โทร. 0 2272 8033

RD Call Center : 1161

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ