รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6 - 10 พฤศจิกายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 14, 2017 13:46 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 60 มียอดคงค้าง 16.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 60 มียอดคงค้าง 18.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.86
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 60 คิดเป็น 1.69 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 60 เกินดุล 6,287 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 64.1
  • GDP อินโดนีเซีย ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.7 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การส่งออกของจีน เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 16.8 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicators: This Week

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 60 มียอดคง ค้าง 16.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ชะลอลงและสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 60 มียอดคงค้าง 18.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 3.9 และเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.86 ทรงตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก และจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทยาสูบและแอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาผักยังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเทศกาลกินเจ และทำให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.58

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 60 คิดเป็น 1.69 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 3.6 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 60 เกินดุล 6,287 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 4,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุล 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้า (ตามระบบ BOP) ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุล 886 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 60 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 36,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 64.1 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 62.5 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่มากเนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อยังคงขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี อยู่ที่ระดับ 63.7 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 59 ที่อยู่ที่ระดับ 62.2

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

การส่งออก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน ก.ย. 60 ที่ 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน ต.ค. 60 เพิ่มขึ้น 2.61 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้าโดยเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน สอดคล้องกับอัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 60 ที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ต่อกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบ 16 ปีกว่า ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ISM) เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 60.1 จุด สูงสุดในรอบ 12 ปีกว่า

Eurozone: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 58.5 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 58.1 จุด ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.8 จุด ด้านดัชนี PMI รวม เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.7 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

China: improving economic trend

การส่งออก เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 16.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ได้ดุลการค้าในเดือน ต.ค. 60 ที่ 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.90 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

UK: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.6 จุด

Malaysia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 60 ธนาคารกลางมาเลเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี

Indonesia: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ปี 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 120.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 123.8 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Singapore: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 60 หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Philippines: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ด้านการส่งออก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าขณะที่การนำเข้า เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และขาดดุลการค้าใน เดือน ก.ย. 60 ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 หดตัวร้อยละ -4.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 60 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี

Australia: mixed signal

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 60 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี

Japan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.7 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 ปี

Taiwan: mixed signal

การส่งออก เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกินดุลการค้าในเดือน ต.ค. 60 ที่ 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์และปรับตัวลดลงในปลายสัปดาห์ สวนทางกับดัชนี MSCI AC Asia Pacific Index ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี SET ณ วันที่ 9 พ.ย. 60 ปิดที่ระดับ 1,703.03 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 6 พ.ย. - 9 พ.ย. 60 ที่ 56,179 ล้านบาทต่อวัน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 9 พ.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,198.68 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวอยู่ในช่วง -2 ถึง 2 bps ในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะพันธบัตรฯ ระยะสั้นต่ำกว่า 1 ปี มีการปรับลดลง 1-2 bps ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 6 - 9 พ.ย. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,179.85 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 0.02 โดย ณ วันที่ 9 พ.ย. 60 เงินบาทปิดที่ 33.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ยกเว้นเงินเยนและวอนที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนลงขึ้นร้อยละ 0.06

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ