รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 27, 2009 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 มี.ค. 2552

SUMMARY:

1. นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้

2. BOI เผยยอดคำสั่งซื้ออุตฯ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น

3. ส่งออกฮ่องกงทรุด หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

HIGHLIGHT:
1. นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ หลังแตะจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/52 ตามวิกฤตการเงินโลก และมีความเห็นเช่นเดียวกันกับกระทรวงการคลังที่คาดว่าจีดีพีทั้งปีของไทยในปีนี้อาจขยายตัวติดลบ -3% ถึง -2% ทั้งนี้ ครม.เศรษฐกิจ ได้กำหนดกรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้น ระหว่างปี 2553-2555 รวม 1.56 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ 2 โดยคาดว่าจะทำให้ GDP เติบโตได้มากขึ้น และกระตุ้นการจ้างงานใหม่ได้ 1.6 ล้านคน ภายใน 3 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยบวกคือ 1) มาตรการในส่วนเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท วงเงินรวมประมาณ 19 พันล้านบาท ซึ่งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ทันทีในไตรมาส 2/52 ช่วยให้การบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิดการผลิตและจ้างงานต่อเนื่อง และ 2) แผนการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4/52 อีกทั้ง 3) ฐานที่ต่ำของปีก่อน คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ ในไตรมาส 4 ส่วนทั้งปี 52 จะหดตัว -2.5%yoy
2. BOI เผยยอดคำสั่งซื้ออุตฯ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น
  • เลขาฯ BOI เผยว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 52 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จนทำให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตในสัดส่วนที่สูงกว่าเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ กลุ่มอุตฯไฟฟ้าประเภท White Goods มียอดคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสสองกว่าร้อยละ 80 ของยอดในช่วงปกติ ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกมียอดเพียงร้อยละ 60-70 ของภาวะปกติ สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และแผงวงจรรวมที่มีคำสั่งซื้อร้อยละ 70-80 ของยอดในภาวะปกติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตจากเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 52 ที่อยู่ที่ร้อยละ 52.1 และ 52.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ทั้ง 2กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่ตลาดหลัก เช่น สหรัฐ กลุ่มอียู และญี่ปุ่น ยังคงมีภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงถดถอยกอปรกับภาวะอุปสงค์ของตลาดภายในประเทศเองที่ยังคงชะลอตัวที่ส่งผลให้ในระยะต่อไป
3. ส่งออกฮ่องกงทรุด หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
  • สำนักงานสถิติฮ่องกง เผยตัวเลขส่งออกสินค้าเดือนก.พ.52 หดตัวร้อยละ -23.0 ต่อปี โดย re-export ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 97 ของการส่งออกรวม หดตัวที่ร้อยละ -22.4 ต่อปี ในขณะที่ domestic export หดตัวถึงร้อยละ -39.6 ต่อปี ในแง่มิติสินค้า การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าวัตถุดิบหดตัวถึงร้อยละ -48.1 -26.2 และ -13.6 ต่อปี ตามลำดับ ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น หดตัวถึงร้อยละ -14.2 -34.6 และร้อยละ -23.6 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนก.พ.52 หดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การส่งออกของฮ่องกงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่การส่งออกของฮ่องกงมีการกระจายตลาดและกระจายหมวดสินค้าส่งออกที่ต่ำ จึงทำให้การส่งออกของฮ่องกงมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับการที่ฮ่องกงเป็นประเทศที่มีอัตราการเปิดประเทศสูง ภาคการส่งออกของฮ่องกงที่ถดถอย จึงส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม คาดว่า GDP จะหดตัว -5.0%yoy ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 6 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกของไทยที่ร้อยละ 5.6 ของมูลค่าการส่งออกรวม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ