สศอ.ชี้ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย มุ่งสร้างคุณภาพสินค้า ภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 20, 2014 13:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ชี้ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย มุ่งเพิ่มมาตรฐานของสินค้าให้เทียบเท่ากับสากล พัฒนากระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และทรัพยากรที่ใช้ เพื่อสร้างคุณภาพสินค้า ภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค อันจะส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมอาหาร ที่ส่งออกมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยในปี 2556 หดตัวร้อยละ 7.6 คิดเป็นมูลค่า 8 แสนกว่าล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยในปี 2557 มีแนวโน้มการปรับตัวได้ดีขึ้นจากปี 2556 ซึ่งคาดว่าจะหดตัวเพียงร้อยละ 5 ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีความได้เปรียบในเรื่องวัตถุดิบ ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เป็นต้น ไม่สามารถส่งออกสินค้าให้กับกลุ่มประเทศผู้บริโภคได้ จึงทำให้กลุ่มประเทศผู้บริโภคหันมาซื้อวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์การส่งออกจากไทยมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มประเทศผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพ และประสบการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน จึงทำให้เกิดความได้เปรียบจากประเทศคู่แข่ง ได้แก่ จีนและเวียดนาม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารไทย ยังได้มีทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีแนวทางของโครงการการจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ Water footprint ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อประเมินผลการใช้น้ำ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและมลภาวะต่างๆ รวมถึงโครงการ Carbon footprint ซึ่งเป็นแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมของโลกอีกด้วย

บริษัท ไทยซุนฟู้ดส์ จำกัด จังหวัดหนองคาย หนึ่งในบริษัทที่มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาหารส่งออก ประเภทอาหารกระป๋อง เช่น น้ำมะเขือเทศเข้มข้น ข้าวโพดหวานในน้ำเชื่อม ขนุนอบแห้ง วุ้นมะพร้าว เป็นต้น ซึ่งเน้นผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน ได้รับรางวัล ระบบบริหารความปลอดภัยของอาหาร ISO 22000 (International Standards Organization 22000), ระบบการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร ในกระบวนการผลิตทั้งหมด GMP (Good Manufacturing Practice), ระบบวิเคราะห์จุดอันตราย และจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Points) และระบบมาตรฐานการผลิตอาหารตามหลักศาสนาอิสลาม HALAL โดยประเทศที่ส่งออกสินค้าเป็นหลัก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น (70-80%) เนื่องจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีความสนใจ

และเชื่อถือในผลิตภัณฑ์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ส่งออก ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงประเทศในแถบอาเซียน

อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย ยังคงดำเนินต่อไปตามแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมนำร่อง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการและนำร่องให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ ที่สามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์การส่งออกจากประเทศไทยในอนาคตต่อไป

1 สิงหาคม 2557

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ