พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 27 พฤษภาคม 2558 - 02 มิถุนายน 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday May 27, 2015 15:03 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 27 พฤษภาคม 2558 - 02 มิถุนายน 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 27-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้บริเวณภาคเหนือจะมีฝนเพิ่มขึ้นกว่าระยะที่ผ่านมาโดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาคจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น พื้นที่ซึ่งมีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนน้อยหรือฝนทิ้งช่วงในระยะต่อไป
  • สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตและเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินใบและยอดอ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • ส่วนเกษตรกรที่เตรียมดินเพื่อปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ควรเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดี และไม่ควรปลูกพืชแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสะสมภายในแปลงปลูกเป็นสาเหตุของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 27-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ที่จะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ใบและยอดอ่อนเสียหาย
  • สำหรับผู้ที่ปลูกพืชไร่ในระยะนี้ควรชุบท่อนพันธุ์หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดี

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 27-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ และเตรียมอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกใหม่ๆ น้ำในระดับบนและน้ำในระดับลึกจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 27-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยว เช่น เงาะ ทุเรียน และลองกอง เป็นต้น เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผลที่เน่าเสียและร่วงหล่น ตลอดจนเปลือกผลไม้ กองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
  • พื้นที่การเกษตรที่มีฝนตกในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ใน พืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งหนอนจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง

-พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ขุดลอกคูคลองระบายน้ำ อย่าให้ตื้นเขินระบายน้ำออกได้สะดวก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • สำหรับฝนที่ตกในภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะเป็นผลดีสำหรับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตและเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินใบ และยอดอ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตเสียหาย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

  • ในช่วงนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้น พื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น โดยเฉพาะโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า ในยางพารา มักระบาดในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ