พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 09 ธันวาคม 2559 - 15 ธันวาคม 2559

ข่าวทั่วไป Friday December 9, 2016 14:49 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 09 ธันวาคม 2559 - 15 ธันวาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-14 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก เฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม. /ชม. ในวันที่ 15 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกรช่วงนี้มีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป ส่วนยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ตนเอง และสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และควรดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังจากจุดไฟผิงเพื่อให้ความอบอุ่น
  • สัตว์น้ำในช่วงที่อุณหภูมิลดลง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเพิ่มอุณหภูมิน้ำให้เหมาะสมและลดปริมาณอาหารที่ให้ลง เพราะในช่วงที่อากาศหนาวเย็น สัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย
  • สัตว์เลี้ยง สภาพอากาศหนาวเย็น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนให้แก่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็ก เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น จนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-13 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ในช่วงวันที่ 14-15 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 12-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตรระยะนี้มีอากาศแห้งและลมแรง ทำให้น้ำระเหยจากพื้นดินและต้นพืชมาก เกษตรกรที่ปลูกพืช เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักและพืชไร่ชนิดต่างๆ ควรจัดหาน้ำให้แก่พืชเพิ่มเติม และคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยน้ำ และรักษาความชื้นภายในดิน รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไรชนิดต่างๆด้วย
  • สัตว์เลี้ยง ระยะนี้สภาพอากาศหนาวเย็นและมีลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนให้แก่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็ก และทำแผงกำบังลมหนาว เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น จนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
  • ผลผลิตทางการเกษตร ในช่วงวันที่ 14-15 ธ.ค.จะมีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่ทางตอนล่างของภาค สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรไม่ควรตากทิ้งไว้กลางแจ้งในช่วงดังกล่าว เพราะจะเสียหายเนื่องจากฝนที่ตกได้

ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 10-14 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ในวันที่ 15 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับเกษตรกรที่เกี่ยวข้าวนาปีไปแล้วและต้องการปลูกพืชรุ่นใหม่โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีความเหมาะสมกับพื้นที่และภูมิอากาศ
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่ออกดอกแล้ว เช่น มะม่วง ชาวสวนควรให้น้ำแก่พืช โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกร่วงหล่น การติดผลลดลง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 10-13 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 14-15 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2-3 เมตร

  • พืชผักและไม้ดอก ระยะนี้สภาพอากาศแห้งและแดดจัด ทำให้น้ำระเหยจากดินและพืชได้มาก เกษตรกรที่ปลูกพืชที่มีระบบรากตื้น เช่น ไม้ดอกและพืชผักชนิดต่างๆ ควรคลุมดินบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นในดิน รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ชนิดต่างๆ
  • พื้นที่การเกาตร สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 9-13 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก เฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 14-15 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตรระยะนี้ภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และพื้นฟูสภาพสวนให้ดีดังเดิม
  • ยางพาราสภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าและโรคเส้นดำ ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง โดยหมั่นกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โล่งเตียน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดความชื้นภายในสวน
  • ประมงชายฝั่งในช่วงวันที่14-15 ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีคลื่นลมปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดสัปดาห์ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตรระยะนี้ภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และพื้นฟูสภาพสวนให้ดีดังเดิม
  • ยางพาราสภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าและโรคเส้นดำ ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง โดยหมั่นกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โล่งเตียน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดความชื้นภายในสวน
  • ประมงชายฝั่งในช่วงวันที่14-15 ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีคลื่นลมปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 9 - 15 ธันวาคม 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือนตุลาคม( 1-8 ธ.ค.) ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเล็กน้อยบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนบริเวณอื่นๆ ไม่มีรายงานฝนตก สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ซึ่งมีฝนตกสะสมสูงสุด ประมาณ 800-1000 มม. บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง ส่วนบริเวณอื่นๆมีปริมาณฝนสะสมอยู่ในช่วง 50-800 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเล็กน้อยบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและระยอง ส่วนบริเวณอื่นๆไม่มีรายงานฝนตก สำหรับบริเวณภาคใต้ตกต่อเนื่องโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ซึ่งมีฝนสะสมสูงสุดประมาณ 600-800 มม. บริเวณจังหวัดสุรษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา ส่วนบริเวณอื่นๆมีปริมาณฝนสะสมอยู่ในช่วง50-600 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ ระยะที่ผ่านมาศักย์การคายระเหยน้ำประเทศไทยมีค่าระหว่าง 15-20 มม.ยกเว้นบริเวณบางส่วนของภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งมีค่าศักย์การระเหยน้ำสะสม 20-25 มม.

สมดุลน้ำ ระยะที่ผ่านมาค่าสมดุลน้ำบริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าเป็นลบเนื่องจาก บริเวณดังกล่าวไม่มีฝนตก โดยมีค่าสมดุลน้ำสะสมอยู่ระหว่าง(-10)(-30) มม.ส่วนบริเวณภาคใต้ มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวกเนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางล่างของภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งมีค่าสมดุลน้ำเป็นอยู่ระหว่าง 40-600 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนไม่มีฝนตก ทำให้พื้นที่โดยทั่วไปมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ และในช่วง 7 วันข้างหน้าจะไม่มีฝนตก ดังนั้นเกษตรที่ปลูกพืชผักหรือพืชชนิดอื่นๆ ควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่ปลูกเพิ่มเติม สำหรับภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกมีฝนตกต่อไปได้อีก แต่ปริมาณไม่หนาแน่นเหมือนช่วงที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วม เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกอย่าให้ทีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและเน่า ส่วนบริเวณที่น้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบฟื้นฟูสภาพสวนให้ดีดังเดิม นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักเอาไว้ด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ