พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 29 มีนาคม 2560 - 04 เมษายน 2560

ข่าวทั่วไป Wednesday March 29, 2017 15:25 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 29 มีนาคม 2560 - 04 เมษายน 2560

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. และ 3-4 เม.ย.อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างและด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.60 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน ตลอดจนโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะ เจริญเติบโตทางผล เช่นลิ้นจี่ และลำไย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต หากขาดน้ำจะทำให้ผลร่วงหล่น ผลผลิตลดลง ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานอาจทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง
  • พืชไร่/พืชผัก/ไม้ดอก เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 29-30 มี.ค. และ 2-4 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 31 มี.ค. -1 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงแล้งปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อรักษาอุณหภูมิดิน ลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
  • สัตว์น้ำ เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในระยะนี้ควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เกษตรกร ในช่วงฤดูร้อนเชื้อโรคต่างๆจะเจริญเติบโตได้ดี อาหารต่างๆอาจบูดเน่าได้เร็วขึ้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยเลือกรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. และ 3-4 เม.ย.อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.60 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงแล้ง แม้จะมีฝนตก แต่ปริมาณยังไม่มากและการกระจายยังไม่ทั่วถึง เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชควรรอให้มีปริมาณฝนที่เพียงพอและการกระจายของฝนสม่ำเสมอแล้วค่อยลงมือปลูก หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉา ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำห้ต้นพืชตายได้
  • สัตว์เลี้ยง เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงในระยะนี้ เกษตรกรควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยนำวัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปวางไว้ในโรงเรือน หรือฉีดน้ำเป็นฝอยภายในโรงเรือน หากมีน้ำเพียงพออาจฉีดน้ำบริเวณหลังคาจะช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนลงได้ เพราะขณะน้ำระเหยจะเอาความร้อนออกไปด้วย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 29 -31 มี.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-4 เม.ย. 60 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนัก บางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง และควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงแล้ง
  • พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก ระยะนี้บางช่วงอาจมีฝนตก เหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าว ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืช ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 1-4 เม.ย. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 29 -31 มี.ค. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-4 เม.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับในช่วงวันที่ 2-4 เม.ย.มีฝนตกหนักถึงหนักมาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ไม้ผล สำหรับเกษตรกรที่ต้องการให้ปุ๋ยพืชทำได้ในช่วงนี้ เนื่องจากในช่วง 2-4 เม.ย. จะมีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราด้วย
  • พืชสวน สำหรับพื้นที่ซึ่งในบางช่วงมีฝนตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรมผลผลิตลดลง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 2-4 เม.ย. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 29 มี.ค. -1 เม.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 เม.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับในช่วงวันที่ 2-4 เม.ย.มีฝนตกหนักถึงหนักมาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • พืชสวน สำหรับพื้นที่ซึ่งในบางช่วงมีฝนตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรมผลผลิตลดลง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ