พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 14 สิงหาคม 2560 - 20 สิงหาคม 2560

ข่าวทั่วไป Monday August 14, 2017 16:28 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 14 สิงหาคม 2560 - 20 สิงหาคม 2560

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-20 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ไม้ดอก ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุด และโรคดอกเน่า ในเบญจมาศดาวเรือง และกุหลาบ เป็นต้น โดยดูแลพื้นที่การเกษตรให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันความชื้นสะสมภายในแปลงปลูกซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคดังกล่าว
  • กาแฟ เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกชุกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกกาแฟควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราสนิม ซึ่งจะทำให้ใบร่วง และกิ่งแห้งตาย และโรคเน่าคอดินในกาแฟต้นอ่อน ซึ่งจะทำให้ต้นเหี่ยวและตายได้ โดยหมั่นสำรวจหากพบโรคดังกล่าวควรรีบกำจัด และเก็บกวาดส่วนที่เป็นโรคไปทำลาย เพื่อป้องกันเชื้อโรคลุกลามไปสู่ต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-20 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ข้าวนาปีสำหรับทางตอนบนของภาค พื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้อากาศมีความชื้นสูง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ ซึ่งระบาดใด้ในข้าวทุกระยะ ส่วนทางตอนล่างของภาคซึ่งมีฝนตกหยุดสลับกัน ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกอ และหนอนกระทู้ เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินต้นข้าวทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงที่มีฝนตกชุก เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรง อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่นโคและกระบือ เป็นต้น หากพบสัตว์เลี้ยงเป็นโรคดังกล่าวควรรีบแยกออกจากกลุ่มและทำการรักษา เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 15-20 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • พื้นที่การเกษตร พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกพืชเป็นเวลานานทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ใหเพร้อมใช้งาน
  • สัตว์น้ำ เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อ และอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 15-20 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อลดความชื้นสะสมภายในแปลงปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินและอากาศมีความชื้นสูง และทำความเสียหายแก่ไม้ผล
  • พืชไร่ ในช่วงที่มีฝนตกชุกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ควรระวังและป้องกัน การระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าในพริกไทย โรคยอดเน่าในสัปปะรด และโรคแอนแทรกโนสในมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้ โดยดูแลพื้นที่การเกษตรให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในแปลงปลูก และจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขัง ในพื้นที่เพาะปลูก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งทะเลคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 15 - 19 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เนื่องจากเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก ส่งผลให้พืชเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรีบตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นพื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นานขึ้น รวมทั้งกำจัดเปลือกและผลที่เน่าเสียไม่ควรกองสุมไว้ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 15 - 19 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เนื่องจากเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก ส่งผลให้พืชเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้

-ชาวเรือและชาวประมง ในช่วงวันที่ 15-19 ส.ค. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ