พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 13 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข่าวทั่วไป Monday November 13, 2017 15:54 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 136/60

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนบางพื้นที่ สำหรับภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ มีฝนกับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายฝนฟ้าคะนองที่จะเกิดขึ้นในระยะแรก และรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นลง ส่วนภาคใต้ ขอให้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสม และชาวเรือในบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ภาคเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 18-19 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรกและอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ไม้ดอก/พืชผัก ระยะนี้อากาศเย็นและชื้น กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดกันมากหรือปลูกพืชในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทน้อย จะทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เกษรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ ควรรีบควบคุมก่อนระบาดไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • สัตว์น้ำ ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส สำหรับสภาพอากาศที่หนาวเย็นโดยเฉพาะบริเวณตอนบนของภาค อาจทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง เกษตรกรควรลดปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้อาหารเหลือ ซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบกับสัตว์ รวมทั้งเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำ และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้อากาศเย็นและชื้น กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดกันมากหรือปลูกพืชในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทน้อยจะทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เกษรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ ควรรีบควบคุมก่อนระบาดไปยังต้นอื่นๆ

ภาคกลาง

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในวันที่ 18-19 พ.ย.อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • ไม้ดอก/พืชผัก ในวันที่ 18-19 พ.ย. จะมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกและพืชผัก โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดกันมากหรือปลูกพืชในที่ร่มควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบกำจัด
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย.จะมีฝนเล็กน้อยบางแห่งและอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรควรดูแลสัตว์เลี้ยงให้ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 18-19 พ.ย.อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • เกษตรกร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • สัตว์น้ำ ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส สำหรับสภาพอากาศที่หนาวเย็นโดยเฉพาะบริเวณตอนบนของภาค อาจทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง เกษตรกรควรลดปริมาณอาหารที่ให้ เพื่อไม่ให้อาหารเหลือ ซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบกับสัตว์ รวมทั้งเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำ และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15 -30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
  • พืชสวน ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน เกษตรกรที่ปลูกพืชสวน ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรครากขาว และเส้นดำในยางพารา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย และตายได้
  • ชาวเรือและชาวประมง ในช่วงวันที่ 18 - 19 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2560

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ในช่วงวันที่ 1-12 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนมาก เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ที่มีฝนสะสมมากกว่า 25 มม. โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 25 - 100 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 25 -400 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-400 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนมาก เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ที่มีฝนสะสมมากกว่า 25 มม. โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 25 - 100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 10-200 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่น โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 25-30 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ โดยมีค่า (-10)-(-30) มม. เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก โดยมีค่า 1-70 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม 10-200 มม. เป็นส่วนมาก โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสม 200-300 มม. ส่วนบางพื้นที่ของภาคใต้ตอนกลางมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-20) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย และในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ กับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกโดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และจัดระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้

รายงานลักษณะอากาศในระยะ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 6- 12 พฤศจิกายน พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่างในวันแรกของสัปดาห์ได้เคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนทางเหนืออย่างช้าๆเข้าสู่อ่าวไทยตอนกลางแล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในช่วงบ่ายของวันที่ 7 ก่อนเคลื่อนเข้าปกคลุมจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ แล้วเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในช่วงบ่ายของวันต่อมา ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลางในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์สำหรับบริเวณประเทศไทยตอนบนได้รับอิทธิพลจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบนในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอ่อนกำลังลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีฝนเพิ่มขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นส่วนมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคเหนือมีอากาศเย็นทั่วไปในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปส่วนมากทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาว โดยมีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ ภาคกลางมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 30-65 ของพื้นที่ เว้นแต่ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ ภาคตะวันออกมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-30 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 8 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัด พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนักได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และตรัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ