พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 22 - 28 มกราคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Monday January 22, 2018 13:25 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 22-28 มกราคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 10/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 22-23 ม.ค. 61 ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวโดยทั่วไป ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. 61 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับภาคใต้จะมีฝนตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 22-24 ม.ค. 61

คำเตือน ในช่วงวันที่22-23ม.ค.61 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะในขณะผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา ส่วนในช่วงวันที่24-28 ม.ค.61 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่างจะมีฝนบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 22-23 ม.ค. 61 ทางตอนบนของภาค: อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 14-16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ทางตอนล่างของภาค: อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. 61 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด2-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีอากาศหนาวเย็น โดยทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาคของภาคจะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าบริเวณอื่นๆเกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • ส่วนในบางพื้นที่อาจมีหมอกและน้ำ ค้างในระยะนี้เกษตรกรควรระวัง และป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ในพืชไร่และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สำหรับบางพื้นที่จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะขณะผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ส่วนในช่วงวันที่ 22-23 ม.ค. 61 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ลมตะวันออกความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. 61อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อุณหภูมิกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมากเกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • เนื่องจากมีน้ำระเหยมากในระยะนี้ เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหย ของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
  • ในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรใว้กลางแจ้งเพราะอาจทำให้เปียกชื้นเสียหายได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 22-23 ม.ค. 61 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. 61 มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกร ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
  • ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต เพราะหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำจะทำให้ต้นพืชตาย สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 22-23 ม.ค. 61 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าโดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. 61 มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราดำ ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีหมอก โดยฉีดพ่นด้วยน้ำจะทำให้ลดการระบาดของโรคดังกล่าวลงได้ แต่ไม่ควรฉีดน้ำแรงเกินไปเพราะจะทำให้ดอกช้ำการติดผลลดลงได้
  • เนื่องจากระยะนี้และระยะต่อไปเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้งและควรให้น้ำพืชในช่วงเย็น เพื่อลดอัตราการสูญเสียน้ำโดยการระเหย และควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 22-24 ม.ค. 61 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดเช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืชทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อยลง รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนไว้ด้วย
  • ส่วนทางตอนล่างของภาคสภาพอากาศชื้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชสวนและพืชผัก โดยดูแลแปลงปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกแสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อลดความชื้นสะสมภายในพื้นที่เพาะปลูก ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 22-28 มกราคม 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม (ในช่วงวันที่ 1-21 มกราคม 2561) บริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกมีปริมาณฝนสะสม 50-150 มม. สำหรับภาคใต้ตอนล่างส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 50-400 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-400 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 10 มม. สำหรับภาคใต้ตอนล่างส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 10-200 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด100-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ สะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำ สะสม 15-30 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-20)-(-30) มม. สำหรับภาคใต้ตอนล่างส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-150 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสมสูงสุด 70-150 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็น ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ม.ค. 61 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ