เอแบคโพลล์: การพัฒนาประเทศกับแนวโน้มความสุขมวลรวมของคนไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday November 29, 2010 07:22 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำ สถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิด เผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การพัฒนาประเทศกับแนวโน้มความสุขมวลรวมของคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาช นครศรีธรรมราช พัทลุง จำนวนทั้งสิ้น 2,260 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 27 พฤศจิกายน 2553 ผลการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงสาเหตุอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ พบว่า 10 อันดับแรก ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ ร้อยละ 90.7 ระบุเป็นเพราะความแตกแยก ความไม่สามัคคีของคนในชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 87.5 มองว่าเป็นการทุจริต คอรัปชั่น ร้อยละ 84.9 มองว่า เป็น พฤติกรรมนักการเมือง (ฉาว ไม่เหมาะสม มุ่งประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง) ร้อยละ 81.5 ระบุว่า เป็น พฤติกรรมข้า ราชการ (ฉาว ไม่เหมาะสม ชิงดีชิงเด่น อยู่ใต้อิทธิพลนักการเมืองและกลุ่มนายทุน) ในขณะที่ร้อยละ 73.0 ระบุเป็นเพราะ อำนาจตัดสินใจยังอยู่กับ คนไม่กี่คนในเมืองมากกว่า (การรวมศูนย์อำนาจอิทธิพล) ร้อยละ 69.1 ระบุเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำงานไม่เชื่อมโยงประสานกัน ด้อย ประสิทธิภาพ ขาดการประเมินผลที่ดี ร้อยละ 64.6 ระบุเป็นเพราะการปฏิวัติ ยึดอำนาจ ร้อยละ 62.8 พฤติกรรมของกลุ่มนายทุน (เอารัดเอา เปรียบ กอบโกย เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ดูแล ไม่เอาใจใส่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง) ร้อยละ 60.9 เป็นเพราะ คุณภาพด้อยการศึกษา (ระบบการ ศึกษา) และร้อยละ 53.1 ระบุเป็นเพราะรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามถึงความรู้สึกหลังการพิจารณาคดียุบหรือไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า เกินครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 53.2 ยังมีความหวังและจะ ก้าวต่อไปข้างหน้า ในขณะที่ร้อยละ 46.8 กลัวและกังวลต่อผลการพิจารณา

เมื่อถามถึงรายชื่อนักการเมืองสำคัญที่น่าจะหันหน้ามาช่วยกันปฏิรูปประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 56.2 ระบุเป็น นายชวน หลีกภัย รองลงมาคือ ร้อยละ 53.3 ระบุ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 49.3 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 47.4 ระบุนายสุเทพ เทือก สุบรรณ ร้อยละ 46.8 ระบุนายสนธิ ลิ้มทองกุล ร้อยละ 40.9 ระบุนายจตุพร พรหมพันธ์ ร้อยละ 38.5 ระบุ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ร้อยละ 31.2 ระบุนายเนวิน ชิดชอบ ร้อยละ 30.2 ระบุนายบรรหาร ศิลปอาชา และร้อยละ 28.9 ระบุ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตามลำดับ

เมื่อวิจัยความสุขมวลรวมของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ พบว่า แนวโน้มความสุขมวลรวมของประชาชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 6.57 ในเดือนกันยายน มาอยู่ที่ 5.42 ในเดือนพฤศจิกายน

ผอ.เอแบคโพลล์ ระบุว่าความสุขมวลรวมของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยจะเห็นได้ว่า ความสุขของประชาชนมีอาการแกว่งตัวขึ้นลงไม่มีความคงที่ เหมือนไม่มีหลักประกันที่จะสร้างความมั่นคงในจิตใจในหมู่ประชาชนได้ และหากพิจารณา สาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะพบว่า นอกจากความแตกแยกของคนในชาติ ปัญหาทุจริต พฤติกรรมนักการเมือง และพฤติกรรมข้าราชการ ยังมีปัจจัยสำคัญคือ “อคติแห่งนครา” ที่เป็นแหล่งรวมศูนย์อำนาจและความทรงอิทธิพลของกลุ่มคน เฉพาะกลุ่มที่สามารถกดดันการตัดสินใจของรัฐบาลได้และมักจะมีอิทธิพลอยู่ในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ของประเทศ ดังนั้น “อคติแห่งนครา” นี้จึง กลายเป็นสาเหตุหลักในทฤษฎีการพัฒนาประเทศเพราะกลุ่มผู้มีอำนาจและอิทธิพลพยายามกดดันการตัดสินใจของรัฐบาลให้เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ ของตนเองและพวกพ้อง ส่วนภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไม่มีอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งมากเพียงพอ หรือบางครั้งภาคประชาชนและภาคประชา สังคมอาจถูกใช้เป็นเพียงหนึ่งในหมากของทฤษฎีเกมการเมืองที่ห้ำหั่นกันโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายโดยรวมของประเทศ ทำให้เกิด “วัฏจักรแห่ง ความเลวร้าย” ในสังคมไทยโดยทำให้เกิดกระแสคล้อยตามเหตุที่อ้างความแตกแยกของคนในชาติ การทุจริตคอรัปชั่นและพฤติกรรมของนักการเมืองมา เป็นต้นเหตุของการสับเปลี่ยนหมุนเวียนอำนาจที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

“ทางออกคือ ต้องหยุด “อคติแห่งนครา” แต่หันมาส่งเสริมมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งแท้ จริงมากำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ โดยรัฐบาลและกลไกของรัฐส่วนกลางเป็นเพียงรัฐบาลแห่งการรักษาความมั่นคง ประเทศและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมแห่งพัฒนาประเทศโดยภาพรวมเท่านั้น ผลที่ตามมาคือ การหยุดอคติแห่งนคราน่าจะช่วย ลดความแตกแยกของคนในชาติ แต่เพิ่มความสุขในหมู่ประชาชนได้ในระยะยาว” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.0 เป็นชาย ร้อยละ 53.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 10.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 27.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 32.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อย ละ 4.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 16.1 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.1 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความถี่ในการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          ความถี่ในการติดตามข่าวสาร ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา          ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                        66.4
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                        16.2
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                         8.3
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                      7.8
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                          1.3
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 2 แสดง 10 อันดับสาเหตุที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประเทศไทย
ลำดับที่          10 อันดับ สาเหตุ อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ                                               ค่าร้อยละ
1          ความแตกแยก ความไม่สามัคคีของคนในชาติ                                                        90.7
2          การทุจริต คอรัปชั่น                                                                          87.5
3          พฤติกรรมนักการเมือง (ฉาว ไม่เหมาะสม มุ่งประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง)                                84.9
4          พฤติกรรมข้าราชการ (ฉาว ไม่เหมาะสม ชิงดีชิงเด่น อยู่ใต้อิทธิพลนักการเมือง กลุ่มทุน)                       81.5
5          อำนาจตัดสินใจยังอยู่กับกลุ่มอิทธิพลไม่กี่คนในเมืองมากกว่า (การรวมศูนย์อำนาจอิทธิพล)                        73.0
6          เจ้าหน้าที่รัฐทำงานไม่เชื่อมโยงประสานกัน ด้อยประสิทธิภาพ ขาดการประเมินผลที่ดี                           69.1
7          การปฏิวัติ ยึดอำนาจ                                                                         64.6
8          พฤติกรรมกลุ่มนายทุน (เอารัดเอาเปรียบ กอบโกย เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ดูแล ไม่ใส่ใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง)   62.8
9          คุณภาพด้อยการศึกษา (ระบบการศึกษา)                                                           60.9
10          รัฐธรรมนูญ                                                                               53.1

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึก หลังการพิจารณาคดียุบหรือไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
ลำดับที่          ความรู้สึกของตัวอย่าง                ค่าร้อยละ
1          มีความหวัง และจะก้าวต่อไปข้างหน้า          53.2
2          กลัวและกังวลต่อผลการพิจารณา              46.8
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 4 แสดง 10 รายชื่อนักการเมืองสำคัญที่น่าจะหันหน้ามาช่วยกัน ปฏิรูปประเทศไทย (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          นักการเมืองที่ต้องการให้หันหน้ามาช่วยกัน ปฏิรูปประเทศไทย  ค่าร้อยละ
1          นายชวน หลีกภัย                                        56.2
2          พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร                                 53.3
3          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ                                   49.3
4          นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ                                  47.4
5          นายสนธิ  ลิ้มทองกุล                                     46.8
6          นายจตุพร พรหมพันธ์                                     40.9
7          พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ                                  38.5
8          นายเนวิน ชิดชอบ                                       31.2
9          นายบรรหาร  ศิลปอาชา                                  30.2
10          พล.อ.สนธิ  บุญยรัตกลิน                                 28.9

ตารางที่ 5 แสดงแนวโน้มค่าเฉลี่ยความสุขมวลรวมของประชาชนในสถานการณ์โดยรวมของประเทศขณะนี้เมื่อคะแนนเต็ม 10
                            มี.ค.52   มิ.ย.52    ก.ค.52   ส.ค.52    ต.ค.52   พ.ย.52   ธ.ค.52   ม.ค.53   ก.ค.53    ก.ย.53   พ.ย.53
ค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวม
ของคนไทยภายในประเทศ
(Gross Domestic Happiness)    6.18     7.15      5.92     7.18      6.83     7.52     7.26     6.52     6.77      6.57     5.42

หมายเหตุ จากฐานข้อมูลรายงานความสุขมวลรวมของคนไทย โดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ