เอแบคโพลล์: "พ่อ” กับ ครอบครัวและความสุขมวลรวมของประชาชนในสังคมไทย

ข่าวผลสำรวจ Tuesday December 7, 2010 07:32 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขของคนไทยในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช 2553 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาช นครศรีธรรมราช พัทลุง จำนวนทั้งสิ้น 1,542 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน- 4 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.7 อยู่บ้านติดตามการถ่ายทอดสดพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องใน วันเฉลิมพระชนมพรรษา ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ไม่ได้ติดตามชมรายการสด

เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนควรจะน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงไปปฏิบัติ 5 อันดับแรก พบว่า อันดับแรกหรือ ร้อยละ 89.2 ระบุ การใช้ชีวิตด้วยความพอเพียง ร้อยละ 87.5 ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ร้อยละ 86.4 มีสติรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้ผิดรู้ชอบ ร้อยละ 85.7 ตั้งจิตตั้งใจทำความดีเพื่อตนเองและสังคม และร้อยละ 83.2 มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง

และเมื่อถามถึงการได้เจอ/พูดคุยกับพ่อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 48.9 ระบุได้เจอ/พูดคุยกับพ่อทุกวัน ร้อยละ 14.1 อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ร้อยละ 8.7 อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 5.3 เดือนละ 2-4 ครั้ง และร้อยละ 23.0 เดือนละ 1 ครั้ง/น้อยกว่าเดือนละครั้ง

สำหรับกิจกรรมที่ทำร่วมกัน พบว่า เพียงร้อยละ 35.2 เท่านั้นที่ทานข้าวร่วมกัน ร้อยละ 27.2 ดูข่าว ดูละครร่วมกัน ร้อยละ 23.3 พูด คุยกันเรื่องส่วนตัว ร้อยละ 7.8 ช็อปปิ้งร่วมกัน ร้อยละ 7.2 ท่องเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 7.1 ชมภาพยนตร์ด้วยกัน และร้อยละ 4.1 ออกกำลังกาย ร่วมกัน

นอกจากนี้สิ่งที่ “ผู้เป็นลูก” ตั้งใจจะทำให้ พ่อ ในวันพ่อที่จะมาถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 45.6 จะอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากัน ร้อยละ 40.1 ไปทำบุญตักบาตร ร้อยละ 35.2 ให้ของขวัญ การ์ด ดอกไม้ และรองๆ ลงไปคือ ทานข้าวนอกบ้านกับพ่อ ให้เงินพ่อ ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบ ครัว พาพ่อไปพักผ่อน ทำบุญอุทิศส่วนกุศล พาพ่อไปเที่ยว ไปตรวจสุขภาพ และโทรศัพท์หาพ่อ ตามลำดับ

และสิ่งที่ “ผู้เป็นลูก” อยากขอบคุณ “ผู้เป็นพ่อ” พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 48.3 ขอบคุณพ่อที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ร้อยละ 42.0 ขอบคุณที่เลี้ยงดูให้เติบโตเป็นคนดีของสังคม ร้อยละ 37.2 ขอบคุณที่พ่อให้อนาคตที่ดี ให้การศึกษา รองๆ ลงไปคือ ขอบคุณที่พ่อดูแลแม่และครอบ ครัวเป็นอย่างดี ขอบคุณที่พ่อเข้าใจและให้อภัยในสิ่งที่ลูกเคยทำผิดพลาดไป ขอบคุณที่ไม่ทอดทิ้ง และให้ชีวิต ให้กำเนิด และขอบคุณที่พ่อรักลูกเท่าๆ กัน ไม่นอกใจแม่ มีเวลาให้และเชื่อใจลูก ตามลำดับ

ที่น่าเป็นห่วงคือ 5 อันดับแรก กลุ่มคนที่ต้องปรับปรุงภาพลักษณ์เรื่องภายในครอบครัว พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 79.2 ระบุเป็นกลุ่ม ดารานักแสดง เพราะมีแต่เรื่องชู้สาว เรื่องมือที่สาม เรื่องบุตรที่หาคนเป็นพ่อไม่ได้ มีครรภ์ก่อนแต่งงาน มีปัญหาการยอมรับไม่ยอมรับของพ่อแม่ฝ่าย ชายฝ่ายหญิง และการแย่งสามี ภรรยากัน เป็นต้น ในขณะที่รองลงมาคือร้อยละ 70.5 ระบุเป็นกลุ่มข้าราชการ โดยมีเหตุผลคล้ายกัน แต่ที่เด่นใน ปัญหาครอบครัวของกลุ่มข้าราชการคือ เรื่อง ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา การนอกใจภรรยาและสามีของตนเอง และ การข่มขืน การคุกคามทางเพศระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน เป็นต้น และอันดับสามที่มีเหตุผลไม่แตกต่างกันคือ ร้อยละ 64.8 ระบุเป็นกลุ่มนักการ เมือง ร้อยละ 55.1 ระบุเป็นกลุ่มนักธุรกิจ และร้อยละ 53.6 ระบุเป็นกลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลวิจัยแนวโน้มความสุขมวลรวมหรือค่า Gross Domestic Happiness, GDH ของคนไทยภายในประเทศ ในวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2553 ล่าสุดเพิ่มสูงขึ้นจาก 5.42 มาอยู่ที่ 8.37 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ผอ. ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า น่าเป็นห่วงที่กลุ่มดารานักแสดงและกลุ่มข้าราชการกลายเป็นกลุ่มที่มีปัญหาต้องปรับปรุงภาพลักษณ์ เรื่องภายในครอบครัวพอๆ กัน และเมื่อครอบครัวเป็นรากแก้วที่สำคัญของสังคม ความมั่นคงภายในครอบครัวจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งส่งผลต่อ ความมั่นคงของประเทศได้ ทุกคนในสังคมจึงน่าจะช่วยกันรักษาสถาบันหลักที่เป็นเอกลักษณ์ที่ดีของสังคมไทยเอาไว้ โดยรัฐบาลน่าจะมีนโยบายสาธารณะ ที่สำคัญต่อสวัสดิการทางสังคมในการเอื้อต่อประโยชน์และความสุขของครอบครัว จากข้อมูลที่ค้นพบในงานวิจัยที่ผ่านมาและครั้งล่าสุด จึงเสนอแนวคิดใน นโยบายสาธารณะ “ครอบครัวเป็นสุขมั่นคงถ้วนหน้า” อย่างน้อย 6 ประการต่อไปนี้

          1)          จัดทำฐานข้อมูลครอบครัวที่มีความประสงค์รับการสนับสนุนจากรัฐ อาศัยเกณฑ์ด้าน “เศรษฐสังคม”
          2)          จัดทำคูปองสินค้าและบริการ ด้าน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเงินสนับสนุนที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับการเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่
ช่วงตั้งครรภ์จนถึงอายุ 5 ขวบ (คูปองนี้สามารถใช้ในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไปคู่กับบัตรประจำตัวประชาชนของพ่อหรือแม่ที่ระบุไว้ใน
ฐานข้อมูล)
          3)          มีกฎหมายดูแลให้เด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบมีผู้ปกครองอยู่บ้านด้วย โดยรัฐและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสนับสนุนให้ครอบ
ครัวมีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น
          4)          เพิ่มการสนับสนุนสถานรับเลี้ยงเด็กที่ต้องการการเลี้ยงดูกลุ่มเด็กพิเศษของสังคม
          5)          เข้มงวดต่อการเคารพสิทธิ ลดปัญหาคุกคามสิทธิกลุ่มครอบครัวพิเศษเหล่านั้นอย่างจริงจังต่อเนื่อง
          6)          จัดทำโครงการประเมินผลติดตามการช่วยเหลือจากรัฐและเอกชนต่อคุณภาพเด็กและครอบครัวที่เข้าโครงการว่าเป็น
ทรัพยากรมนุษย์ที่ดีต่อสังคมได้มากน้อยเพียงไร

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่า      ตัวอย่าง    ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง

ร้อยละ 47.4 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 23.2 อายุ 20 — 29 ปี

ร้อยละ 22.1 อายุ 30 — 39 ปี

ร้อยละ 26.6 อายุ 40 — 49 ปี

และร้อยละ 23.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป

โดยตัวอย่าง ร้อยละ 31.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 23.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 19.3 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 12.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 4.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 4.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ ร้อยละ 77.6 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 20.0 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 2.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุจะติดตามรับชมการถ่ายทอดงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมของในหลวง
เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ลำดับที่          การติดตามรับชมการถ่ายทอด          ค่าร้อยละ
1          ติดตาม                                85.7
2          ไม่ได้ติดตาม                            14.3
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ 5 อันดับแรกที่ประชาชนควรจะน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงไปปฏิบัติ(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          5 อันดับแรกที่ประชาชนควรจำน้อมนำพระราชดำรัสไปใช้           ค่าร้อยละ
1          ใช้ชีวิตด้วยความพอเพียง                                        89.2
2          ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ                            87.5
3          มีสติรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้ผิดรู้ชอบ                                    86.4
4          ตั้งจิต-ตั้งใจทำความดีเพื่อตนเองและสังคม                           85.7
5          มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจน               83.2

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุการได้เจอ/พูดคุยกับพ่อ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          การได้เจอ/พูดคุยกับพ่อ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา    ค่าร้อยละ
1          ทุกวันหรือเกือบทุกวัน                              48.9
2          อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง                              14.1
3          อาทิตย์ละ 1 ครั้ง                                 8.7
4          เดือนละ 2-4 ครั้ง                                5.3
5          เดือนละ 1 ครั้ง/น้อยกว่าเดือนละครั้ง                 23.0
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุกิจกรรมที่ตนเองได้ทำร่วมกับพ่อ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ค่าร้อยละที่ทำบ่อย-บ่อยที่สุด)
ลำดับที่          กิจกรรมที่ทำร่วมกัน           ค่าร้อยละ
1          ทานข้าวร่วมกัน                    35.2
2          พูดคุยเรื่องส่วนตัว                  23.3
3          ดูข่าว ดูละคร                     27.2
4          ช็อปปิ้ง                           7.8
5          ท่องเที่ยว                         7.2
6          ชมภาพยนตร์                       7.1
7          ออกกำลังกาย                      4.1

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างลูกที่ระบุสิ่งที่ตั้งใจจะทำเพื่อพ่อในวันพ่อที่จะถึงนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่ลูกตั้งใจจะทำเพื่อพ่อ                                        ค่าร้อยละ
1          อยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากัน                                           45.6
2          ไปทำบุญตักบาตรกับพ่อ                                               40.1
3          ให้สิ่งของ เช่น ของขวัญ การ์ด ดอกไม้                                  35.2
4          ไปทานข้าวนอกบ้านกับพ่อ                                             22.0
5          ให้เงินพ่อ                                                        21.5
6          ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เช่น ปลูกต้นไม้ ทำกับข้าว                     19.4
7          อื่นๆ อาทิ พาพ่อไปพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พ่อ/พาพ่อไปเที่ยว/
           พาพ่อไปตรวจสุขภาพ/โทรศัพท์หาพ่อ/กลับบ้านไปหาพ่อ                        23.2

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างลูกที่ระบุสิ่งที่อยากจะขอบคุณพ่อในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่ลูกอยากจะขอบคุณพ่อในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา                                        ค่าร้อยละ
1          ขอบคุณที่พ่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกเสมอมา                                                   48.3
2          ขอบคุณที่เลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม                                               42.0
3          ขอบคุณที่พ่อให้อนาคตที่ดี /ให้การศึกษา                                                      37.2
4          ขอบคุณที่พ่อดูแลแม่และครอบครัวเป็นอย่างดี                                                   25.5
5          ขอบคุณที่พ่อเข้าใจและให้อภัยในสิ่งที่ผิดพลาดเสมอไม่เคยทอดทิ้ง                                    23.7
6          ขอบคุณที่ให้ชีวิต/ขอบคุณที่ให้กำเนิด                                                         11.7
7          อื่นๆ อาทิ ขอบคุณที่พ่อรักลูกเท่าๆ กัน/ขอบคุณที่พ่อไม่นอกใจแม่/ขอบคุณที่พ่อมีเวลาให้/ขอบคุณที่พ่อเชื่อใจ        9.1

ตารางที่ 7 แสดงการจัด 5 อันดับแรก ของกลุ่มคนที่ต้องปรับปรุงภาพลักษณ์เรื่องภายในครอบครัว (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          5 อันดับแรกกลุ่มคนที่ต้องปรับปรุงภาพลักษณ์เรื่องภายในครอบครัวในสังคมไทย      ค่าร้อยละ
1          กลุ่มดารา นักแสดง                                                     79.2
2          ข้าราชการ                                                           70.5
3          นักการเมือง                                                          64.8
4          นักธุรกิจ                                                             55.1
5          รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป                                                  53.6

ตารางที่ 8 แสดงแนวโน้มค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมของคนไทยตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2552 จนถึงปัจจุบัน เมื่อคะแนนเต็ม 10
                          มี.ค.52   มิ.ย.52    ก.ค.52   ส.ค.52   ต.ค.52   พ.ย.52   ธ.ค.52    ม.ค.53   ก.ค.53   ก.ย.53   พ.ย.53   ธ.ค.53
ค่าคะแนนเฉลี่ย
ความสุขมวลรวมของ
คนไทยภายในประเทศ
(Gross Domestic Happiness)  6.18     7.15      5.92     7.18     6.83     7.52     7.26      6.52     6.77     6.57     5.42     8.37

หมายเหตุ จากฐานข้อมูลรายงานความสุขมวลรวมของคนไทย โดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ