เอแบคโพลล์: เปรียบเทียบภาวะความเป็นผู้นำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างปี พ.ศ.2552 กับ ปี พ.ศ.2553

ข่าวผลสำรวจ Wednesday December 15, 2010 09:12 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เปรียบเทียบภาวะความเป็นผู้นำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2552 กับ ปี พ.ศ. 2553 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 2,381 ครัวเรือน ดำเนินโครงการสำรวจระหว่างวันที่ 1 — 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 88.0 ระบุติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 9.2 ระบุติดตามเป็นบางสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 2.8 ไม่ได้ติดตามเลย

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อดัชนีความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่า ร้อยละ 74.9 ระบุนายกรัฐมนตรีมีจุดแข็งด้านความซื่อสัตย์สุจริต รองลงมาคือร้อยละ 74.1 ระบุสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ร้อยละ 72.0 ระบุมีความเคร่งครัดต่อหลักศีลธรรม ร้อยละ 71.7 ระบุเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าพวกพ้องและคนใกล้ชิด ร้อยละ 71.2 ระบุเป็นที่ไว้วางใจได้ของประชาชน และร้อยละ 70.5 ระบุนายกรัฐมนตรีมีเสน่ห์ดึงดูดจิตใจ น่าเลื่อมใสศรัทธา ร้อยละ 69.1 ระบุไม่ทอดทิ้งชาวบ้านเมื่อได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 68.9 ระบุมีความเป็นประชาธิปไตย

และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบตัวชี้วัดความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีจากการสำรวจในช่วงปี พ.ศ.2552 และปี พ.ศ.2553 พบว่าตัวชี้วัดด้านความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นในทุกตัวชี้วัด โดยพบว่า ด้านความซื่อสัตย์สุจริตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 74.9 ด้านการควบคุมอารมณ์ได้ดีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 73.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 74.1 ด้านความเคร่งครัดต่อหลักศีลธรรม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 72.0 ด้านเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าพวกพ้องและคนใกล้ชิดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 71.7 ด้านมีเสน่ห์ ดึงดูดจิตใจน่าเลื่อมใสศรัทธาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 70.5 ด้านการไม่ทอดทิ้งชาวบ้านเมื่อได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 69.1 ด้านความเป็นนักประชาธิปไตย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 68.9 ด้านการให้เกียรติแกนนำรัฐบาลด้วยกัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือร้อยละ 68.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 68.9 ด้านการเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 65.5 ด้านความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 63.5 ด้านการสื่อสารได้ดีกับนานาประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 62.6 ด้านการสื่อสารได้ดีกับประชาชนภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 60.4 ด้านการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการยึดหลักคุณธรรม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 54.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 54.8 ด้านการเข้าถึงจิตใจของประชาชนได้ทุกระดับชั้น เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 51.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 51.8 ด้านการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 51.0 อย่างไรก็ตาม มีตัวชี้วัดสองด้านที่เพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่าครึ่งคือ ความรวดเร็วฉับไวแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน เพิ่มจากร้อยละ 37.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 48.7 และด้านความเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 40.6

เมื่อสอบถามความต้องการเร่งด่วนให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า ร้อยละ 78.9 ระบปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ร้อยละ 78.7 ระบุการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกร ร้อยละ 75.3 ระบุปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลายมาตรฐาน เลือกปฏิบัติ รองๆ ลงไปคือ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาอาชญกรรม ปัญหยาเสพติด ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยหนาว ปัญหาการประกันรายได้เกษตรกร ปัญหาการดูแลสวัสดิการกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาหนี้นอกระบบ คุณภาพการศึกษา คุณภาพเด็กและเยาวชน เป็นต้น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สาธารณชนได้มองความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเพิ่มสูงขึ้นในทุกตัวชี้วัด แต่ที่ต่ำกว่าครึ่งมีอยู่สองด้านคือ ความรวดเร็วฉับไวในการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน และความเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดบางตัวดูจะไม่แตกต่างไปจากการสำรวจครั้งก่อน คือ การแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องยึดหลักคุณธรรม กับเรื่องของการเข้าถึงจิตใจของประชาชนได้ทุกระดับชั้น ซึ่งต้องรอพิสูจน์ฝีมือการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีในอนาคต

ลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่าตัวอย่างร้อยละ 57.3 เป็นหญิง

ร้อยละ 42.7 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 7.4อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 24.7 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 25.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 79.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 20.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 31.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 25.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 15.9 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 10.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 8.1 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ร้อยละ 5.4 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ในขณะที่ร้อยละ 2.4 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา      ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                        41.8
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                        28.4
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                        17.8
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                      9.2
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                          2.8
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเห็นต่อดัชนีความเป็นผู้นำ ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบ
ระหว่าง ปี พ.ศ. 2552 กับ ปี พ.ศ. 2553
ลำดับที่          ดัชนีความเป็นผู้นำ                              ปีพ.ศ. 2552ค่าร้อยละ     ปี พ.ศ. 2553ค่าร้อยละ
1          ความซื่อสัตย์สุจริต                                        68.2                    74.9
2          ควบคุมอารมณ์ได้ดี                                        73.8                    74.1
3          มีความเคร่งครัดต่อหลักศีลธรรม                              71.4                    72.0
4          เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าพวกพ้องและคนใกล้ชิด             65.4                    71.7
5          เป็นที่ไว้วางใจได้ของประชาชน                              61.4                    71.2
6          มีเสน่ห์ ดึงดูด จิตใจน่าเลื่อมใสศรัทธา                         64.9                    70.5
7          ไม่ทอดทิ้งชาวบ้านเมื่อได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี                   67.0                    69.1
8          มีความเป็นนักประชาธิปไตย                                 66.5                    68.9
9          การให้เกียรติแกนนำรัฐบาลด้วยกัน                            68.4                    68.9
10          เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก                         45.7                    65.5
11          ความรู้ ความสามารถ                                    61.8                    63.5
12          สื่อสารได้ดีกับนานาประเทศทั่วโลก                           47.0                    62.6
13          สื่อสารได้ดีกับประชาชนภายในประเทศ                        53.3                    60.4
14          แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ยึดหลักคุณธรรม                     54.1                    54.8
15          เข้าถึงจิตใจของประชาชนได้ทุกระดับชั้น                       51.3                    51.8
16          บริหารจัดการแบบมืออาชีพ                                 40.2                    51.0
17          รวดเร็วฉับไว แก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน                37.9                    48.7
18          เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน                      25.1                    40.6

ความคลาดเคลื่อนประมาณ +/- ร้อยละ 5

ตารางที่ 3 แสดง 10 อันดับค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการเร่งด่วนให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ
ลำดับที่          ความต้องการเร่งด่วนให้ นายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน           ค่าร้อยละ
1          ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ                                        78.9
2          การปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรอย่างแท้จริง/ปํญหาเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกร          78.7
3          ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลายมาตรฐาน เลือกปฏิบัติ                         75.3
4          ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในระบบราชการ                                      69.4
5          ปัญหาอาชญากรรม และความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน                        68.1
6          ปัญหายาเสพติด                                                     67.6
7          ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยธรรมชาติ  น้ำท่วม  และภัยหนาว             58.8
8          การประกันรายได้เกษตรกร                                            55.7
9          การดูแลสวัสดิการกลุ่มผู้สูงอายุ  และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม                     53.0
10          อื่นๆ อาทิ  ปัญหาหนี้นอกระบบ /คุณภาพการศึกษา คุณภาพเด็กและเยาวชน เป็นต้น   49.9

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ