ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของประชาชนต่อปัญหาชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ลพบุรี สมุทรปราการ จันทบุรี นครนายก สุพรรณบุรี พะเยา เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี นครพนม ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,971 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในช่วง 7 - 12 กุมภาพันธ์ 2554 ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.7 วิตกกังวลต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รองลงมาคือ ร้อยละ 78.2 กังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 69.2 กังวลต่อความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของเด็กๆ ร้อยละ 69.1 กังวลต่อการเสียขวัญและกำลังใจของประชาชนตามแนวชายแดน ร้อยละ 68.3 กังวลต่อความมั่นคงของประเทศ ร้อยละ 64.2 กังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ และร้อยละ 51.6 กังวลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก
เมื่อถามถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของทหารไทยในสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.4 ระบุทหารไทยทำหน้าที่ได้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ดีแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 12.6 ระบุยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลไทยในการใช้วิธีแก้ปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา ผลสำรวจพบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 54.7 ระบุเป็นการเจรจาตรงระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุการเจรจาผ่านองค์การสหประชาชาติ หรือประเทศที่เป็นกลาง ร้อยละ 5.0 เท่านั้นที่ระบุให้ทำสงคราม และร้อยละ 23.0 ระบุให้ใช้ทุกวิธี
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.8 ยังคงมีความหวังว่าจะหันมาร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาได้ด้วยดี ในขณะที่ ร้อยละ 19.2 ไม่มีความหวัง
สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 41.3 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 30.7 เชื่อมั่นปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 28.0 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย
ดร.นพดล ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนไทยเกือบทุกคนที่แสดงความห่วงใยต่อทหารและเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องราชอาณาจักรของประเทศ ดังนั้นน่าจะถึงเวลาที่กลุ่มคนชนชั้นนำที่คอยชี้นำสังคม กลุ่มนายทุน ผู้ประกอบการค้าธุรกิจและประชาชนทุกหมู่เหล่าแสดงพลังความสามัคคีให้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกด้วยสันติวิธีในเชิงสร้างสรรค์อย่าง นานาประเทศที่เจริญแล้ว ควรประพฤติปฏิบัติต่อกันว่าคนไทยทุกคนมี “สติ” และ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” และพร้อมส่งพลังความดีและปัจจัยสำคัญทั้งในรูปของการบริจาคสิ่งของยังชีพและทุนทรัพย์แก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน พลเรือนทั้งคนไทยและชาวกัมพูชา บนพื้นฐานของหลักคุณธรรม ฉายภาพความเมตตาและเอื้ออาทรให้ชาวโลกได้เห็นว่า พลเรือนคนไทยและกัมพูชา ยังคงรักความสงบความมีไมตรีจิตต่อกัน ก็น่าจะทำให้ความหวังของคนไทยส่วนใหญ่เป็นจริงขึ้นมาได้ว่า ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่าง ไทยกับกัมพูชา เป็นเรื่องที่ยังคงเป็นจริงขึ้นมาได้มากยิ่งขึ้น
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 48.9 เป็นชายร้อยละ 51.1 เป็นหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี
ร้อยละ 23.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี
ร้อยละ 26.4 อายุระหว่าง 30—39 ปี
ร้อยละ 25.3 อายุระหว่าง 40—49 ปี
และร้อยละ 19.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 63.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 31.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 5.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 31.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป
ร้อยละ 28.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว
ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน
ร้อยละ 15.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 7.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา
ร้อยละ 5.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ร้อยละ 3.9 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
โปรดพิจารณารายละเอียดดังตาราง
--เอแบคโพลล์--