ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในการยอมรับของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี จันทบุรี ลพบุรี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,412 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 - 13 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
โดยภาพรวมในสายตาของประชาชน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.9 ให้การยอมรับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี รองลงมาคือ ร้อยละ 58.9 ยอมรับนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในขณะที่ร้อยละ 58.4 ยอมรับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เท่ากัน ร้อยละ 57.7 ยอมรับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น ร้อยละ 57.1 ยอมรับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เท่ากัน อันดับถัดมาคือ ร้อยละ 57.0 ยอมรับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ร้อยละ 56.2 ยอมรับ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ และร้อยละ 55.7 ยอมรับ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.การคลัง และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคมเท่ากัน ตามลำดับ
เมื่อวิเคราะห์การยอมรับเฉพาะในกลุ่ม “ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ” พบ 10 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 58.3 ยอมรับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม อันดับที่สอง ได้แก่ ร้อยละ 58.1 ยอมรับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี อันดับที่สาม ได้แก่ ร้อยละ 57.5 ยอมรับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม อันดับที่สี่ ได้แก่ ร้อยละ 57.3 ยอมรับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อันดับที่ห้า ได้แก่ ร้อยละ 55.0 ยอมรับ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อันดับที่หก ได้แก่ ร้อยละ 54.9 ยอมรับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อันดับที่เจ็ด ได้แก่ ร้อยละ 54.3 ยอมรับ พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม อันดับที่แปด ได้แก่ ร้อยละ 52.7 ยอมรับ นายชุมพล ศิลปอาชา อันดับที่เก้า ได้แก่ ร้อยละ 51.8 ยอมรับ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยี สารสนเทศฯ และอันดับที่สิบได้แก่ ร้อยละ 51.2 ยอมรับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ตามลำดับ
แต่เมื่อวิเคราะห์การยอมรับเฉพาะในกลุ่ม “พนักงานบริษัทเอกชน” พบ 10 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 61.1 ยอมรับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ อันดับที่สองได้แก่ ร้อยละ 57.8 ยอมรับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.การคลัง อันดับที่สามได้แก่ ร้อยละ 55.1 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อันดับที่สี่ได้แก่ ร้อยละ 54.3 ยอมรับ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อันดับที่ห้า ได้แก่ ร้อยละ 53.6 ยอมรับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และรองๆ ลงไปอีกห้าอันดับคือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ตามลำดับดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ค่าคะแนนเฉลี่ยภาพลักษณ์โดยรวมของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่รับผิดชอบในด้านต่างๆ พบว่า เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน คณะรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้ 6.16 คะแนน คณะรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ได้ 5.83 คะแนน คณะรัฐมนตรี ด้านแก้ไขปัญหาสังคม ได้ 5.73 คะแนน อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์โดยรวมด้านความซื่อสัตย์สุจริตของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ได้เกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อยคือ 5.44 คะแนน แต่คะแนนโดยภาพรวมทั้งหมดในภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ได้ 6.10 คะแนน
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อกังวลของประชาชนต่อ พฤติกรรมของผู้ติดตามและคณะที่ปรึกษารัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 52.6 ระบุกังวลเรื่องการใช้เส้นสายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ร้อยละ 46.2 กังวลเรื่องการเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 44.6 กังวลเรื่องการล้างแค้น ทีใครทีมัน พวกใครพวกมัน ร้อยละ 44.3 กังวลเรื่องการกลั่นแกล้ง ห้ำหั่น แย่งชิงอำนาจ ร้อยละ 42.5 กังวลเรื่องการคดโกง การทุจริต รองๆ ลงไปคือ กังวลเรื่อง กร่าง เบ่งกินฟรี ข่มขู่ รีดไถ เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อทดลองสอบถามความนิยมของประชาชน เปรียบเทียบระหว่าง “พี่ชาย” คือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร กับ “น้องสาว” คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ประชาชนนิยมชอบ “น้องสาว” หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ มากกว่า “พี่ชาย” คือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยร้อยละ 44.9 นิยมชอบนางสาวยิ่งลักษณ์ มากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 23.8 นิยมชอบ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มากกว่า และที่เหลือร้อยละ 31.3 ไม่มีความเห็น
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความนิยมชอบต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.8 นิยมชอบ ในขณะที่ร้อยละ 28.2 ไม่รู้สึกเช่นนั้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า โดยภาพรวมของหน้าตาภาพลักษณ์คณะรัฐมนตรีชุดนี้ในสายตาประชาชนได้คะแนนค่อนข้างดีเท่านั้น แต่ที่อยู่ในเกณฑ์ดีและมีพลังมากพอจะขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลได้คือ ความนิยมชอบต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนี่คือข้อมูลที่เป็นจุดตั้งต้นของเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนต่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน หลังจากนี้ไปอีกสามหรือหกเดือนข้างหน้าจะทำการประเมินผลการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นรายบุคคลเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ค้นพบในครั้งนี้ และหากจะตีความข้อมูลอีกด้านหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดนี้ประมาณครึ่งหนึ่งที่สอบผ่าน แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า ประชาชนที่เหลือยังไม่ให้การยอมรับและยังไม่แน่ใจต้องรอดูผลงานก่อน ข้อเสนอแนะในการรักษาฐานสนับสนุนและหนทางเพิ่มความนิยมศรัทธาในหมู่ประชาชน คือ
1) นายกรัฐมนตรีน่าจะมีสำนักที่ทำงานประจำทุกภูมิภาค และนำคณะรัฐมนตรีสัญจร เดินทางเข้าถึงประชาชนเหมือนช่วงหาเสียง ไม่ใช่อยู่แต่ที่ทำเนียบในกรุงเทพมหานคร และน่าจะปฏิรูประบบฐานข้อมูลรับเรื่องราวร้องทุกข์ 2) ภารกิจแรกๆ น่าจะเป็นการแก้ไขกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ เพื่อเปิดท่อของทรัพยากรภายในประเทศมาเชื่อมต่อกันเป็น “คลังทรัพยากร” ที่สามารถใช้ทรัพยากรแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วฉับไว อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าแก้ไขระเบียบ กฎเกณฑ์จนได้คลังทรัพยากรมาอยู่ในฝ่ายบริหารแล้ว เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง และเกิดการทุจริตคอรัปชั่น ก็จะทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยและความเสื่อมในตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว 3) ดังนั้น เมื่อได้คณะรัฐมนตรีแล้วต่อไปน่าจะเป็นการคัดกรองผู้ติดตามและที่ปรึกษารัฐมนตรีที่มุมานะ ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถและทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนทุกคน และต้องพยายามลดภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชนพร้อม “วอลเปเปอร์” ที่อยู่ข้างหลังเพราะอาจจะไม่เป็นภาพที่น่าดูเท่าไหร่ในภาพความเป็นผู้นำ และหากต้องให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเสนอให้มี “โพเดียม” พับเก็บติดรถไว้จะเป็นภาพที่สง่างามกว่าหรือไม่จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.9 เป็นชาย ร้อยละ 51.1 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 18.4 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 22.4 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 37.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 31.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 14.1 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 4.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
--เอแบคโพลล์--