ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เปิดเผยโครงการเฝ้าระวังและรักษาคุณภาพอนาคตเยาวชนไทย ในงานวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผลประมาณการเด็กและเยาวชนใช้ยาเสพติด และแนวทางแก้ไข กรณีศึกษาตัวอย่างอายุ 12 — 24 ปี จากกลุ่มเด็กและเยาวชนเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวนทั้งสิ้น 1,606,286 คน ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 - 15 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา จำนวน 1,815 ตัวอย่าง โดยการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นและมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบครั้งนี้ พบว่า
เด็กและเยาวชนไทยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ใช้ยาเสพติด (ไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่) มีอยู่ 202,392 คน และจำนวนมากที่สุดอยู่ที่ กว่าสามแสนคน หรือ 327,682 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.4 ของประชากรทั้งหมด (ไม่นับประชากรแฝงและกลุ่มแรงงานต่างชาติ)
แนวทางแก้ไขคือ
1) สร้างเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ หรือ “โซเชียลเน็ตเวิร์กลดปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม” จริงจังต่อเนื่อง ด้วยการใช้ระบบแจ้งข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนทุกคนช่วยเฝ้าระวังสกัดกั้นขบวนการค้ายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ
2) ตรวจค้นครั้งใหญ่หรือ การ X-Ray ทุกชุมชน ซุ้มบ้านเช่า โรงเรือนต่างๆ เพื่อขจัดโอกาสและตัดวงจรเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติดและกลุ่มผู้สนับสนุน
3) ปฏิรูประบบบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ โดยทำให้การคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดให้โปร่งใส ไม่ให้มีการตบทรัพย์ปรับผู้ค้ามาเป็นผู้เสพแล้วเข้าไปสร้างเครือข่ายขบวนการค้าในสถานบำบัด แต่นำระบบฐานข้อมูลติดตามผู้ผ่านบำบัดที่มีประสิทธิภาพติดตามผู้เสพเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขากลับกลายเป็นคนดีของสังคม ประกอบอาชีพที่สุจริตไม่เป็นภัยต่อสังคมและมีความมั่นคงในชีวิตอย่างปกติสุขแท้จริง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.1 เป็นชาย ร้อยละ 48.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 30.5 อายุระหว่าง 12 — 15 ปี ร้อยละ 34.7 อายุระหว่าง 16 — 19 ปี ร้อยละ 34.8 อายุระหว่าง 20—24 ปี ตัวอย่างร้อยละ 80.0 กำลังศึกษาอยู่ ร้อยละ 20.0 สำเร็จการศึกษาแล้ว
หมายเหตุ 1. ฐานข้อมูลประชากรปี พ.ศ. 2553 จำนวนประชากรอายุ 12 — 24 ปีในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวนทั้งสิ้น 1,606,286 คน
--เอแบคโพลล์--