เอแบคโพลล์: รายงานดัชนีความสุขมวลรวมหรือ Gross Domestic Happiness (GDH) ในช่วงโค้งแรกของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ข่าวผลสำรวจ Monday September 12, 2011 07:39 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง รายงานดัชนีความสุขมวลรวมหรือ Gross Domestic Happiness (GDH) ในช่วงโค้งแรกของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,520 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 - 10 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนตัวอย่างระดับครัวเรือน ช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อทำการศึกษาดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Happiness (GDH) จำนวน 26 ตัวชี้วัด และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง พบว่า เมื่อค่าอ้างอิงความสุขอยู่ที่ระดับ 100 จุด ผลการศึกษาด้านสังคมปรากฏว่า ประชาชนมีความสุขที่ได้เห็นประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุดอยู่ที่ระดับ 162.7 จุด รองลงมาคือ ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวช่วง 30 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ 135.0 จุด นอกจากนี้ มีความสุขต่อสุขภาพทางใจ 117.6 จุด มีความสุขต่อหน้าที่การงาน อาชีพที่ทำอยู่ 111.4 จุด มีความสุขต่อการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลในชุมชน 110.7 จุด มีความสุขต่อคุณภาพด้านการศึกษาของบุตรหลาน 110.5 จุด มีความสุขต่อสุขภาพทางกาย 108.8 จุด และมีความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนช่วง 30 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 107.7 จุด

อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่มีความสุขต่อสภาพถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำดื่มน้ำใช้ในชุมชนเพราะได้ค่าที่ 94.9 จุด ต่ำกว่าค่าอ้างอิงความสุขที่ระดับ 100 จุด นอกจากนี้ ยังไม่มีความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ถูกละเลยกันไป 86.8 จุด ไม่มีความสุขต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย เด็กไทย 86.7 จุด และด้านความเป็นธรรมในสังคม ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนยังไม่มีความสุขเพราะมีค่าความสุขต่ำกว่ามาตรฐานคือได้เพียง 78.8 ถือว่าน้อยที่สุดในตัวชี้วัดด้านสังคมของคนไทย แต่ค่าความสุขโดยภาพรวมด้านสังคมได้คะแนน 109.30 จุด สูงกว่าค่ามาตรฐานถือว่า คนไทยมีความสุขด้านสังคมเพราะ ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความจงรักภักดีของคนในชาติ ความสุขต่อครอบครัว สุขภาพทางใจ และอาชีพการทำงาน ถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อความสุขมมวลรวมด้านสังคมของประชาชนภายในประเทศไทย

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขต่อทุกตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เรื่อง รายได้ส่วนตัวเปรียบเทียบกับช่วงเวลารัฐบาล นายอภิสิทธิ์ หรือจะเป็นเรื่องรายได้ครัวเรือน และการใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การร้องเรียกสิทธิของผู้บริโภคจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบธุรกิจ และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ค่าความสุขต่ำกว่ามาตรฐาน ได้แก่ 93.1จุด 83.2 จุด 75.6 จุด 74.7 จุด และ 61.3 จุด ตามลำดับ โดยค่าความสุขมวลรวมด้านเศรษฐกิจก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเช่นกันคือได้ 77.58 หมายความว่า ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขต่อทุกตัวชี้วัดด้านการเมืองเช่นกัน ได้แก่ ไม่มีความสุขต่อนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเปรียบเทียบกับรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เพียง 92.5 จุด ถือว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อ การทำงานของรัฐบาลในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 91.2 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 90.8 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของรัฐบาลโดยภาพรวมช่วงนี้ 90.0 จุด ไม่มีความสุขต่อการพบเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 89.6 จุด ไม่มีความสุขต่อการทำงานของนักการเมืองฝ่ายค้าน 87.2 จุด ไม่มีความสุขต่อนักการเมืองระดับท้องถิ่นในชุมชน 80.4 จุด ไม่มีความสุขต่อคุณภาพนักการเมืองระดับชาติในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 71.1 จุด และไม่มีความสุขต่อสถานการณ์การเมืองโดยภาพรวมในช่วง 30 วันที่ผ่านมา 68.2 จุด ตามลำดับ โดยค่าความสุขมวลรวมด้านการเมืองก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเช่นกันคือได้ 84.56 หมายความว่า ประชาชนยังไม่มีความสุขต่อตัวชี้วัดด้านการเมือง

เมื่อพิจารณาโดยรวมของแต่ละด้านพบว่า ประชาชนไม่มีความสุขมวลรวมด้านการเมือง 84.56 จุด ไม่มีความสุขมวลรวมด้านเศรษฐกิจ 77.58 จุด แต่มีความสุขมวลรวมด้านสังคม 109.30 จุด อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดความสุขทั้ง 26 ตัวชี้วัดพบว่า ประชาชนมีความสุขเพียง 8 ตัวชี้วัดเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนไม่มีความสุขต่อ 18 ตัวชี้วัดที่เหลือ และค่าความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศทุกด้านรวมกันไม่มีความสุขอยู่ที่ระดับ 90.48 ซึ่งต่ำกว่าค่าความสุขมาตรฐานในการศึกษาครั้งนี้

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ร้อยละ 47.3 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.2 อายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 20.6 อายุ 40 — 49 ปี และร้อยละ 35.5 อายุ 50 ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าดัชนีความสุข ด้านสังคม จำแนกตามตัวชี้วัด (ถ้าค่าต่ำกว่า 100 จุด หมายถึง ไม่มีความสุข)
ลำดับที่          ตัวชี้วัดความสุข ด้านสังคม                         ค่าความสุขที่วัดได้  ค่าอ้างอิงความสุข    ความหมาย
1          เห็นประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์          162.7          100          มีความสุข
2          บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา    135.0          100          มีความสุข
3          สุขภาพทางใจ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                         117.6          100          มีความสุข
4          หน้าที่การงาน  อาชีพที่ทำอยู่                                111.4          100          มีความสุข
5          การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลในชุมชน                     110.7          100          มีความสุข
6          คุณภาพด้านการศึกษาของบุตรหลาน                            110.5          100          มีความสุข
7          สุขภาพทางกาย ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                        108.8          100          มีความสุข
8          บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา       107.7          100          มีความสุข
9          สภาพถนนหนทาง  ไฟฟ้า น้ำดื่มน้ำใช้ ในชุมชนช่วง 30 วันที่ผ่านมา     94.9          100          ไม่มีความสุข
10          วัฒนธรรมประเพณีไทยในปัจจุบัน ที่ถูกละเลยกันไป                 86.8          100          ไม่มีความสุข
11          ภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย เด็กไทย                     86.7          100          ไม่มีความสุข
12          ความเป็นธรรมในสังคม/ความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ได้รับ          78.8          100          ไม่มีความสุข
          ค่าความสุขโดยรวม ด้าน สังคม                              109.30          100          มีความสุข

ตารางที่ 2 แสดงค่าดัชนีความสุข ด้านเศรษฐกิจ จำแนกตามตัวชี้วัด (ถ้าค่าต่ำกว่า 100 จุด หมายถึง ไม่มีความสุข)
ลำดับที่          ตัวชี้วัดความสุข ด้านเศรษฐกิจ                         ค่าความสุขที่วัดได้  ค่าอ้างอิงความสุข      ความหมาย
1          รายได้ส่วนตัว เปรียบเทียบกับช่วงเวลารัฐบาล นายอภิสิทธิ์              93.1          100          ไม่มีความสุข
2          รายได้ครัวเรือน เปรียบเทียบกับช่วงเวลารัฐบาล อภิสิทธิ์               83.2          100          ไม่มีความสุข
3          การใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เปรียบเทียบกับช่วงเวลารัฐบาลอภิสิทธิ์  75.6          100          ไม่มีความสุข
4          การร้องเรียกสิทธิของผู้บริโภคจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการธุรกิจ          74.7          100          ไม่มีความสุข
5          สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เปรียบเทียบกับช่วงเวลารัฐบาลอภิสิทธิ์       61.3          100          ไม่มีความสุข
          ค่าความสุขมวลรวมโดยรวม ด้านเศรษฐกิจ                           77.58         100          ไม่มีความสุข

ตารางที่ 3 แสดงค่าดัชนีความสุข ด้านการเมือง จำแนกตามตัวชี้วัด (ถ้าค่าต่ำกว่า 100 จุด หมายถึง ไม่มีความสุข)
ลำดับที่          ตัวชี้วัดความสุข ด้านการเมือง                            ค่าความสุขที่วัดได้  ค่าอ้างอิงความสุข    ความหมาย
1          นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เปรียบเทียบกับช่วงเวลา รัฐบาล อภิสิทธิ์       92.5          100          ไม่มีความสุข
2          การทำงานของรัฐบาลในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยภิบัติต่าง ๆ
           ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                                          91.2          100          ไม่มีความสุข
3          การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
           ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                                          90.8          100          ไม่มีความสุข
4          การทำงานของรัฐบาลโดยภาพรวมในช่วงเวลานี้                        90.0          100          ไม่มีความสุข
5          การพบเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 30 วันที่ผ่านมา              89.6          100          ไม่มีความสุข
6          การทำงานของนักการเมืองฝ่ายค้าน                                 87.2          100          ไม่มีความสุข
7          นักการเมืองระดับท้องถิ่นในชุมชน                                   80.4          100          ไม่มีความสุข
8          คุณภาพของนักการเมืองระดับชาติในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                  71.1          100          ไม่มีความสุข
9          สถานการณ์การเมืองโดยภาพรวมในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                  68.2          100          ไม่มีความสุข
          ค่าความสุขมวลรวม ด้านการเมือง                                  84.56          100          ไม่มีความสุข

ตารางที่ 4 แสดงค่าดัชนีความสุข ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม (ถ้าค่าต่ำกว่า 100 จุด หมายถึง ไม่มีความสุข)
ลำดับที่          ตัวชี้วัดความสุข ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยรวม   ค่าความสุขที่วัดได้  ค่าอ้างอิงความสุข  ความหมาย
1          ความสุขมวลรวม ด้านการเมือง                                 84.56          100        ไม่มีความสุข
2          ความสุขมวลรวมด้าน เศรษฐกิจ                                 77.58          100        ไม่มีความสุข
3          ความสุขมวลรวมด้าน สังคม                                   109.30          100        มีความสุข
          ค่าความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศ                      90.48          100        ไม่มีความสุข

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ