เอแบคโพลล์: เสียงสะท้อนของชาวบ้านต่อข้อมูลข่าวน้ำท่วมจากการแถลงของรัฐบาล

ข่าวผลสำรวจ Tuesday October 18, 2011 12:23 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจแบบเรียลไทม์ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ทันทีหลังมีการถ่ายทอดสดการแถลงข่าวของ ศปภ. เรื่อง เสียงสะท้อนของชาวบ้านต่อข้อมูลข่าวน้ำท่วมจากการแถลงของรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่ติดตามชมการแถลงข่าวของ ศปภ. ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 415 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17 — 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.2 ระบุข้อมูลจาก ศปภ. ไม่ชัดเจนว่าพื้นที่ของประชาชนจะถูกน้ำท่วมหรือไม่ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.3 สับสนกับข้อมูลข่าวน้ำท่วมที่ได้รับจาก ศปภ. นอกจากนี้ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.9 ไม่มั่นใจต่องานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.2 ไม่วางใจ ไม่เชื่อถือต่อการให้ข้อมูลข่าวน้ำท่วมจาก ศปภ.

สิ่งที่รัฐบาลน่าจะพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.4 อยากฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมจากกลุ่มคน หรือ หน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่มากกว่า ทีมงานโฆษกของ ศปภ. และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.1 ต้องการฟังข้อมูลจากคนทำงานที่ศูนย์พักพิงมากกว่า ทีมงานโฆษกของ ศปภ.

นอกจากนี้ ค่าคะแนนความพอใจเฉลี่ยต่อการให้ข้อมูลข่าวน้ำท่วมของ ศปภ. ด้านต่างๆ โดยภาพรวมได้เพียง 3.36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และที่น่าเป็นห่วงคือ คะแนนพอใจเฉลี่ยต่อระบบการแจ้งเตือนประชาชนโดยรัฐบาลได้เพียง 3.08 คะแนนเท่านั้น

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า จากการสัมภาษณ์เจาะลึก พบว่า คนที่มีประสบการณ์ในการโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือเบอร์ 1111 กด 5 และเบอร์อื่นๆ ไม่ได้รับความช่วยเหลือแตกต่างไปจากการให้ข้อมูลของทีมงานโฆษกของ ศปภ. ที่ระบุว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องการอพยพขนย้าย การอำนวยความสะดวกและที่พักพิงต่างๆ ดังนั้น ทางเอแบคโพลล์จะทำการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อเบอร์ของศูนย์ให้ความช่วยเหลือต่างๆ หรือเบอร์สายด่วน Hotline ต่างๆ เช่น ศปภ. เบอร์ 1111 สายด่วน ปภ. โทร. 1784 สายด่วน 1669 สายด่วน 191 ตำรวจทางหลวงสอบถามเส้นทาง โทร. 1193 และเบอร์สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดต่างๆ เป็นต้น เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการทำงานตามการแถลงข่าวต่อสาธารณชนจริงหรือไม่ และจะนำเสนอผลสำรวจความพอใจของประชาชนในโอกาสต่อไป

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 45.1 เป็นชาย ร้อยละ 54.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.6 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 24.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 25.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 25.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 73.8 การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 26.2 การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 37.9 ระบุค้าขาย/อาชีพอิสระ ร้อยละ ร้อยละ 23.6 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 13.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.2 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.3 อาชีพอื่นๆ เช่น เกษตรกร รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป และร้อยละ 1.6 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความชัดเจนต่อพื้นที่ของผู้ตอบแบบสอบถามจะถูกน้ำท่วมหรือไม่
ลำดับที่          คำตอบ                                 ค่าร้อยละ
1          ไม่ชัดเจนว่าพื้นที่ของตนเองจะถูกน้ำท่วมหรือไม่          86.2
2          ชัดเจนแล้ว                                    13.8
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความสับสนต่อข้อมูลข่าวน้ำท่วมที่ได้รับจาก ศปภ.
ลำดับที่          คำตอบ                                 ค่าร้อยละ
1          สับสน                                        89.3
2          ไม่สับสน                                      10.7
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความมั่นใจต่อ งานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ลำดับที่          คำตอบ                                 ค่าร้อยละ
1          มั่นใจ                                        43.1
2          ไม่มั่นใจ                                      56.9
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความวางใจ เชื่อถือต่อการให้ข้อมูลข่าวน้ำท่วมจาก ศปภ.
ลำดับที่          คำตอบ                                 ค่าร้อยละ
1          วางใจ เชื่อถือได้                               12.8
2          ไม่วางใจ                                     87.2
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 5  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการต่อคนที่ให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมจาก ศปภ.
ลำดับที่          คำตอบ                                                  ค่าร้อยละ
1          ต้องการฟังข้อมูลจากกลุ่มคน หรือ หน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่มากกว่า            73.4
2          ต้องการฟังข้อมูลจากทีมงานาโฆษกของ ศปภ. มากกว่า                     26.6
          รวมทั้งสิ้น                                                      100.0

ตารางที่ 6  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการต่อคนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์พักพิง ผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ลำดับที่          คำตอบ                                        ค่าร้อยละ
1          ต้องการฟังข้อมูลจากคนทำงานที่ศูนย์พักพิง มากกว่า             75.1
2          ต้องการฟังข้อมูลจากทีมงานโฆษกของ ศปภ. มากกว่า           24.9
          รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 7  แสดงค่าคะแนนพอใจเฉลี่ยต่อ การให้ข้อมูลข่าวน้ำท่วมของ ศปภ. ด้านต่างๆ (เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน)
ลำดับที่          การให้ข้อมูลน้ำท่วมจาก ศปภ. ด้านต่างๆ                                ค่าคะแนน
1          ค่าคะแนนพอใจเฉลี่ยต่อ การให้ข้อมูลน้ำท่วมจาก ศปภ. ด้านต่างๆ โดยภาพรวม          3.36

ตารางที่ 8  แสดงค่าคะแนนพอใจเฉลี่ยต่อ ระบบการแจ้งเตือนประชาชนโดยรัฐบาล (เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน)
ลำดับที่          ระบบการแจ้งเตือนประชาชน                                         ค่าคะแนน
1          ค่าคะแนนพอใจเฉลี่ยต่อ ระบบการแจ้งเตือนประชาชน โดยภาพรวม                   3.08

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ