เอแบคโพลล์: การเมืองกับภัยพิบัติน้ำท่วมและทางออกในสายตาของสาธารณชน

ข่าวผลสำรวจ Monday November 14, 2011 06:41 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง การเมืองกับภัยพิบัติน้ำท่วมและทางออกในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ เพชรบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี หนองคาย สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ตรัง สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,419 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 - 12 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา พบว่า

ประชาชนผู้ถูกศึกษาเกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 27.6 เป็นผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.4 ไม่ประสบปัญหา โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.5 คิดว่าเป็น “หน้าที่” ของประชาชนทุกคนในชาติต้องช่วยกันในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ ในขณะที่ร้อยละ 7.5 คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.0 ไม่คิดว่ามีนักการเมืองคนใดจะสามารถทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ดีกว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะที่ร้อยละ 25.0 คิดว่ามี

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่เกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 97.8 ระบุว่า คนไทยช่วยไทย คนไทยไม่ทิ้งกันคือทางออกในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ และร้อยละ 96.7 คิดว่า ความรักความสามัคคีของคนในชาติคือทางออก ในขณะที่ ร้อยละ 92.5 ระบุรัฐบาลทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อไปคือทางออก และร้อยละ 91.0 ระบุรัฐบาลต้องทำงานใกล้ชิด เลิกขัดแย้งกับกรุงเทพมหานครคือทางออก

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.4 ระบุ การปรับคณะรัฐมนตรีไม่ใช่ทางออก และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.3 ระบุนายกรัฐมนตรีลาออก ไม่ใช่ทางออกเช่นกัน

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.1 ระบุการยึดอำนาจหรือปฏิวัติไม่ใช่ทางออกของประเทศในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 51.7 คิดว่ามีการเลือกปฏิบัติของฝ่ายการเมืองระดับชาติในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม และร้อยละ 55.7 คิดว่ามีการเลือกปฏิบัติของฝ่ายการเมืองระดับท้องถิ่นเช่น อบจ. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ในการเลือกปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.5 คิดว่ามีการทุจริต คอรัปชั่นเงินบริจาค ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติหรือการนำถุงยังชีพทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 กังวลว่าจะมีการทุจริต คอรัปชั่นในการใช้งบประมาณเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม

ผ.อ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ข้อมูลผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความหวังว่าประเทศชาติจะผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ไปได้ แต่ที่น่าเศร้าใจคือ การเลือกปฏิบัติและการทุจริตคอรัปชั่นในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้อันเป็น “ความชั่วร้ายยิ่งกว่าการปล้นสะดมและโจรขึ้นบ้าน” ของผู้ประสบภัยพิบัติหลายเท่าตัว ดังนั้น การบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกและความรวดเร็วฉับไวในการตอบสนองต่อเสียงสะท้อนของสาธารณชนเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองและทุกภาคส่วนน่าจะพิจารณาร่วมกัน โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

ประการแรก รัฐบาล ฝ่ายค้าน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เชิญชวนให้มีการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมน่าจะเปิดเผยต่อสาธารณชนผ่าน world wide web ของหน่วยงานตนเองว่า ใครมีอำนาจลงนามเบิกจ่ายได้ และแจกแจงการเคลื่อนไหวของบัญชีให้สาธารณชนสามารถแกะรอยการใช้จ่ายงบประมาณว่าไปถึงมือของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติจริงหรือไม่ และถ้าหากใช้เงินของผู้บริจาคในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็ควรติดประกาศให้สาธารณชนทราบเป็นการยกย่องให้เครดิตผู้มีจิตเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในสังคม

ประการที่สอง เสนอให้ฝ่ายการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นไม่เลือกปฏิบัติเพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายปฏิเสธ “สองมาตรฐาน” และการปฏิบัติหลายมาตรฐาน ดังนั้น น่าจะนำ “ธงชาติไทย” เป็นสัญญลักษณ์ประจำหมู่บ้าน ประจำศูนย์ที่พักพิงเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะมีธงสัญญลักษณ์อื่นใดมาเป็นเครื่องหมายเพื่อรับการช่วยเหลือหรือการเยียวยาใดๆ อีก บางทีผู้เกี่ยวข้องอาจนำแนวคิดการระดมเงินทุนสำหรับภัยพิบัติต่างๆ ในอนาคตหรือพื้นที่อื่นด้วยการจำหน่าย “สายรัดข้อมือ” หรือสติกเกอร์ติดรถยนต์รณรงค์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จะได้ทั้งเงินกองทุน (Financial Capital) และทุนทางสังคม (Social Capital) ด้านความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติได้อีกด้วย

ประการที่สาม ฝ่ายการเมืองและผู้ใหญ่ในสังคมไทยอาจใช้จังหวะนี้นำไปสู่ “โรดแมปแห่งความปรองดอง” ให้เกียรติและเครดิตทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเสนอให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้จัดเวทีขนาดใหญ่อย่างสมเกียรติยกย่องเชิดชูบุคคลทั้งระดับสูงและระดับผู้ปฏิบัติงานภาคสนามและหน่วยงานสำคัญของประเทศที่ช่วยทำงานอย่างหนักช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาล แต่ที่สามารถทำได้เลยในเวลานี้คือ ทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวของ ศปภ. น่าจะกล่าวชื่นชมหน่วยงานและบุคคลอื่นๆ ที่ทำงานจริงทำงานหนักเป็นการหนุนเสริมจิตใจที่ดีงามของกันและกัน เพราะที่ผ่านมามักจะกล่าวถึงชื่อของคนกันเองภายใน ศปภ. เท่านั้น

ประการที่สี่ จังหวะเวลานี้น่าจะเป็นวาระของคนทั้งชาติที่จะช่วยกันรักษาเสถียรภาพทางการเมืองหรือความมั่นคงของประเทศได้ เพราะสังคมไทยเวลานี้กำลังมีผู้นำฝ่ายค้านที่ไม่ใช่คนที่มุมากในอำนาจหรือลาภผลที่แสดงออกให้สาธารณชนเห็นว่า การลาออกของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ทางออกสอดคล้องกับเสียงสะท้อนของสาธารณชนครั้งนี้ ดังนั้นเมื่อสังคมไทยมีผู้นำฝ่ายค้านเช่นนี้และนายกรัฐมนตรีหญิงผู้นำฝ่ายรัฐบาลคนนี้คงไม่มีจิตใจมุ่งร้ายห่ำหั่นทำลายกัน ส่วนกลุ่มคนนัยสำคัญของประเทศไทยที่เหลือคงมีจิตใจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง บางทีอาจลองพิจารณาสร้างเป็นธรรมเนียมทางการเมืองโดยไม่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญก็ได้ว่า รัฐบาลแต่ละชุดที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชนมีอายุการทำงานอย่างน้อยสี่ปีเพื่อให้มีความจริงจังต่อเนื่องในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์หรือการวางตัวบุคคลที่เหมาะสมมุ่งทำงานรับใช้สาธารณชน เพราะที่ผ่านมา เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนหัวหน้าหน่วย ทิศทางการขับเคลื่อนสังคมไทย “อำนาจและผลประโยชน์” เปลี่ยนมือกันไปแต่ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศเหมือนเดิม

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่าง ร้อยละ 56.5 เป็นหญิง

ร้อยละ 43.5 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 6.9 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 18.1 อายุ 20 — 29 ปี

ร้อยละ 26.3 อายุ 30 — 39 ปี

ร้อยละ 22.5 อายุ 40 — 49 ปี

และร้อยละ 26.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป

โดย ร้อยละ 57.3 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 35.5 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 7.2 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 30.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 28.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 17.1 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 8.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 4.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 9.4 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 2.4 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการประสบกับปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมด้วยตนเอง
ลำดับที่          การประสบกับปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมด้วยตนเอง          ค่าร้อยละ
1          ประสบกับปัญหาน้ำท่วม                               27.6
2          ไม่ประสบปัญหา                                    72.4
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0


ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                 ค่าร้อยละ
1          คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว                      7.5
2          คิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนในชาติต้องช่วยกัน           92.5
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ นักการเมืองที่คิดว่าจะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ดีกว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                 ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามี                                          25.0
2          ไม่คิดว่ามี                                        75.0
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางออกในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้
ลำดับที่          ทางออกในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้      เป็นทางออกค่าร้อยละ    ไม่ใช่ทางออกค่าร้อยละ      รวมทั้งสิ้น
1          ไทยช่วยไทย คนไทยไม่ทิ้งกัน                              97.8                 2.2              100.0
2          ความรักความสามัคคีของคนไทยชาติ                         96.7                 3.3              100.0
3          รัฐบาลทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อไป             92.5                 7.5              100.0
4          รัฐบาลทำงานใกล้ชิด เลิกขัดแย้งกับกรุงเทพมหานคร             91.0                 9.0              100.0
5          การปรับคณะรัฐมนตรี                                    29.6                70.4              100.0
6          นายกรัฐมนตรีลาออก                                    16.7                83.3              100.0
7          การยึดอำนาจ/ปฏิวัติ                                     6.9                93.1              100.0

ตารางที่ 5  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีการเลือกปฏิบัติของฝ่ายการเมืองต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                     มีการเลือกปฏิบัติค่าร้อยละ   ไม่มีการเลือกปฏิบัติค่าร้อยละ           รวมทั้งสิ้น
1          การเลือกปฏิบัติของฝ่ายการเมืองระดับชาติ          51.7                    48.3                    100.0
2          การเลือกปฏิบัติของฝ่ายการเมืองระดับท้องถิ่น        55.7                    44.3                    100.0

ตารางที่ 6  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณี การทุจริตคอรัปชั่นในการใช้เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมหรือการนำถุงยังชีพไปช่วยเหลือประชาชน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                   ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามี                             63.5
2          ไม่คิดว่ามีการทุจริตคอรัปชั่น              36.5
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 7  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลต่อการทุจริต คอรัปชั่นในการใช้งบประมาณเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          กังวล                              68.2
2          ไม่กังวล                            31.8
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ