เอแบคโพลล์: “บทบาทของพ่อ” และนโยบายสาธารณะด้านครอบครัวกับกลุ่มบุคคลที่ต้องปรับปรุงตัวเป็นคนดีของสังคมไทย

ข่าวผลสำรวจ Tuesday December 6, 2011 06:36 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “บทบาทของพ่อ” และนโยบายสาธารณะด้านครอบครัวกับกลุ่มบุคคลที่ต้องปรับปรุงตัวเป็นคนดีของสังคมไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ เลย ขอนแก่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี สตูล และพัทลุง จำนวนทั้งสิ้น 2,103 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา พบว่า

5 อันดับแรกของบทบาทสำคัญที่ลูกและคนในครอบครัวอยากให้ผู้เป็นพ่อปฏิบัติ ได้แก่ อันดับแรก ร้อยละ 84.2 ระบุคุณพ่อต้องพร้อมและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกและคนในครอบครัว อันดับสอง ร้อยละ 82.6 ระบุพูดคุยและให้กำลังใจลูกและคนในครอบครัวเมื่อเกิดปัญหาขึ้น อันดับสาม ร้อยละ 77.3 ระบุเป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูกและคนในครอบครัวในทุกเรื่อง อันดับสี่ ร้อยละ 75.1 ระบุเคารพต่อการตัดสินใจของคนในครอบครัว และอันดับที่ห้า ร้อยละ 74.5 ระบุ พร้อมและเป็นผู้ฟังที่ดีของลูกและคนในครอบครัว ตามลำดับ

นอกจากนี้สิ่งที่อยากให้ผู้เป็นพ่อทำความดีต่อครอบครัว เนื่องในวันพ่อที่จะมาถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 83.9 ระบุอยากให้มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ร้อยละ 81.8 อยากให้มีเวลาให้กับครอบครัว ร้อยละ 81.6 อยากให้มีความเป็นผู้นำครอบครัว และรองๆ ลงไป คือ มีความอดทนอดกลั้นในการดูแลครอบครัว ซื่อสัตย์ต่อแม่ ขยันทำงานมุมานะ และยิ้มแย้มแจ่มใสไม่เครียด ตามลำดับ

เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลกับกลุ่มผู้เป็นแม่และลูกของครอบครัวที่มีปัญหา พบว่า สิ่งที่อยากให้ผู้เป็นพ่อแก้ไขปรับปรุงตัวใน 5 อันดับแรก คือ อันดับแรก ร้อยละ 89.9 ได้แก่ ละเลิกการดื่มเหล้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด อันดับที่สอง ร้อยละ 58.2 ขอให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกสิ่งเสพติด อันดับสาม ร้อยละ 53.6 ขอให้เลิกพฤติกรรมรุนแรง ตบตี ดุด่าคนในครอบครัว อันดับสี่ ร้อยละ 52.9 ขอให้เลิกเจ้าชู้ นอกใจภรรยา เลิกมีกิ๊ก และอันดับห้า ร้อยละ 43.7 ขอให้เลิกเป็นคนขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 57.4 ยังไม่พอใจและต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงนโยบายด้านครอบครัว ในขณะที่ ร้อยละ 42.6 ระบุพอใจ

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากให้คนไทยทำให้แก่กันและกันเพื่อถวายแด่ในหลวง เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 87.8 ระบุอยากให้คนไทยรักกัน อันดับที่สอง ร้อยละ 81.9 อยากให้คนไทยมีน้ำใจต่อกัน อันดับที่สาม ร้อยละ 79.3 อยากให้คนไทยให้อภัยต่อกัน อันดับที่สี่ ร้อยละ 77.2 อยากให้คนไทยเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว อันดับที่ห้า ร้อยละ 76.4 อยากให้คนไทยช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน และรองๆ ลงไป ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ กตัญญูต่อแผ่นดิน ยึดมั่นในความถูกต้อง และยิ้มให้แก่กันและกัน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงกลุ่มบุคคลที่ควรแก้ไขปรับปรุงตัวเป็นคนดีเพื่อถวายแด่ในหลวงเนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ พบว่า ร้อยละ 98.0 ระบุกลุ่มนักการเมืองระดับชาติ เช่น รัฐมนตรี และ ส.ส. ร้อยละ 96.1 ระบุกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 95.5 ระบุกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้บังคับบัญชาระดับสูง ร้อยละ 92.4 ระบุกลุ่มพ่อค้าและกลุ่มนายทุน และร้อยละ 89.7 ระบุข้าราชการชั้นผู้น้อย และรองๆ ลงไปคือ นักเรียน นักศึกษา และครูอาจารย์ เป็นต้น

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ในวาระที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศน่าจะมีนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับครอบครัวที่เด่นชัดมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะผลสำรวจชี้ชัดว่าประชาชนยังไม่พอใจต่อนโยบายรัฐบาลด้านครอบครัวและอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำไปพิจารณาปรับปรุงทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งเนื่องจาก “นโยบายสาธารณะด้านครอบครัวที่ดีจะช่วยนโยบายแก้จน และนโยบายปรองดองของคนในชาติ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเสนอให้ยกระดับปัญหาครอบครัวให้ร้ายแรงกว่าปัญหายาเสพติดและน่าจะถือเป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจังต่อเนื่องดังนี้

ประการแรก รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความรวดเร็วฉับไวต่อปัญหาครอบครัวในแต่ละท้องถิ่นท้องที่ แต่หลายครั้งเจ้าหน้าที่รัฐกลับมีทัศนคติว่า “เรื่องของปัญหาครอบครัว ธุระไม่ใช่” จึงละเลยไม่เข้าถึงรากเหง้าของปัญหาสังคม เช่น ตำรวจมักจะไม่สนใจปัญหาผัวเมียตบตีกัน ตำรวจชุมชนสัมพันธ์มักจะไม่ให้ความสำคัญเข้าถึงปัญหาครอบครัว และซ้ำร้ายไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจกลับมีปัญหาครอบครัวเสียเอง ดังนั้นจึงต้องมีการประชุมเชิงปฏิบัติการหรือ Workshop แก้ปัญหาครอบครัวอย่างแท้จริงเกิดขึ้น

ประการที่สอง มีความชัดเจนในผลสำรวจเรื่อง การเลิกเหล้า เลิกสิ่งเสพติดในพฤติกรรมของพ่อและพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัว ที่จำเป็นต้องแก้ไขตัดไฟแต่ต้นลม การรณรงค์เลิกเหล้า เลิกสิ่งเสพติดอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอแต่ควรมีมาตรการอื่นเสริมให้คนไทยห่างจากเหล้า บุหรี่และสิ่งเสพติด เพราะนอกจากทำให้คนรากหญ้ายากจนมากขึ้นแล้วยังทำให้เกิดปัญหาสังคม อาชญากรรมอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

ประการที่สาม นโยบายสาธารณะด้านครอบครัวน่าจะทำให้สวัสดิการของคนมีครอบครัวดีขึ้นและเกิดความอยากเข้าร่วมกิจกรรมของนโยบาย เช่น การมี “คูปองแก้จน” สามารถนำไปใช้แทนเงินสดซื้อนม ไข่ อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาดในระหว่างที่เลี้ยงบุตรอายุไม่เกิน 5 ขวบ และเป็นคูปองที่นำไปแลกซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไปเพื่อไม่เป็นการ ยัดเยียดสิ่งที่ชาวบ้านไม่ต้องการได้ เป็นต้น

ประการที่สี่ จำเป็นต้องส่งเสริมให้คนในครอบครัวมีเวลาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันมากขึ้น โดยรัฐบาลอาจเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ทำกิจกรรมส่งเสริมครอบครัวให้ได้รับผลตอบแทนชดเชยทางธุรกิจ อาทิ ลดภาษีธุรกิจให้กับบริษัทห้างร้าน ซึ่งจะทำให้คนในครอบครัวมีความรัก ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ต่อกัน และเชื่อมความสัมพันธ์ไปยังครอบครัวอื่นๆ ในชุมชนเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่หนุนเสริมนโยบายปรองดองของคนในชาติได้

ประการที่ห้า ผู้ใหญ่ในสังคม รัฐมนตรี นักการเมือง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนใกล้ชิดในครอบครัวด้านความซื่อสัตย์สุจริตก่อนที่จะออกไปเชิญชวนหรือรณรงค์ให้คนอื่นออกมาต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ร้อยละ 47.4 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 5.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.2 อายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 22.1 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 26.6 อายุ 40 — 49 ปี และร้อยละ 23.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.6 ระบุมีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.0 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 23.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 19.3 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 12.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตาราง

ตารางที่ 1 แสดง 5 อันดับแรกของตัวอย่างที่ระบุการมีบทบาทปฏิบัติกับลูกและคนในครอบครัว
ลำดับที่          การทำสิ่งต่างๆ กับลูกและคนในครอบครัว          ค่าร้อยละ
1          พร้อมและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกและคนในครอบครัว          84.2
2          พูดคุยและให้กำลังใจลูกและคนในครอบครัวเมื่อเกิดปัญหาขึ้น    82.6
3          เป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูกและคนในครอบครัวในทุกเรื่อง         77.3
4          เคารพต่อการตัดสินใจ ของคนในครอบครัว                75.1
5          พร้อมและเป็นผู้ฟังที่ดีของลูกและคนในครอบครัว             74.5

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่อยากให้ผู้เป็นพ่อในครอบครัวทำความดีต่อครอบครัว (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่อยากให้ผู้เป็นพ่อในครอบครัวทำความดีต่อครอบครัว          ค่าร้อยละ
1          มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว                                  83.9
2          มีเวลาให้ครอบครัว                                         81.8
3          มีความเป็นผู้นำครอบครัว                                     81.6
4          มีความอดทนอดกลั้นในการดูแลครอบครัว                          81.0
5          ซื่อสัตย์ต่อแม่                                              80.1
6          ขยันทำงานมุมานะ                                          78.1
7          ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่เครียด                                      78.1

ตารางที่ 3 แสดง 5 อันดับแรกของตัวอย่างผู้เป็นแม่และบุตรในครอบครัวที่มีปัญหาครอบครัวระบุ พฤติกรรมที่อยากให้ “พ่อ” แก้ไขปรับปรุงตัวเพื่อครอบครัว
ลำดับที่          พฤติกรรมที่อยากให้ “พ่อ” แก้ไขปรับปรุงตัวเพื่อแก้ปัญหาครอบครัว          ค่าร้อยละ
1          ละเลิกการดื่มเหล้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด                         89.9
2          เลิกสูบบุหรี่ เลิกสิ่งเสพติด                                            58.2
3          เลิกพฤติกรรมรุนแรง ตบตี ดุด่าคนในครอบครัว                             53.6
4          เลิกเจ้าชู้ นอกใจภรรยา เลิกมีกิ๊ก                                      52.9
5          เลิกเป็นคนขี้เกียจไม่ยอมทำงาน                                        43.7

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุนโยบายรัฐบาลด้านครอบครัว
ลำดับที่          นโยบายรัฐบาลด้านครอบครัว          ค่าร้อยละ
1          พอใจ                                42.6
2          ยังไม่พอใจ และต้องปรับปรุง               57.4
          รวมทั้งสิ้น                             100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่อยากให้คนไทยทำให้แก่กันเพื่อถวายแด่ในหลวง เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ
ลำดับที่          สิ่งที่อยากให้คนไทยทำให้แก่กันเพื่อถวายแด่ในหลวง             ค่าร้อยละ
1          อยากให้คนไทยรักกัน                                        87.8
2          มีน้ำใจต่อกัน                                              81.9
3          ให้อภัยต่อกัน                                              79.3
4          เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว                        77.2
5          เกื้อกูลกัน                                                76.4
6          ซื่อสัตย์สุจริต                                              74.8
7          เสียสละ                                                 74.1
8          กตัญญูต่อแผ่นดิน                                            72.7
9          ยึดมั่นในความถูกต้อง                                        71.9
10          ยิ้มให้กันและกัน                                           70.4
11          มีวินัยต่อกัน                                              70.0
12          รู้จักอดทน ยับยั้งชั่งใจ                                      69.7
13          ชักชวนกันให้เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ                            68.7

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กลุ่มบุคคลที่ควรแก้ไขปรับปรุงตัวเป็นคนดีเพื่อถวายแด่ในหลวง เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          กลุ่มบุคคลที่ควรแก้ไขปรับปรุงตัวเป็นคนดีเพื่อถวายแด่ในหลวง      ค่าร้อยละ
1          นักการเมืองระดับชาติ เช่น รัฐมนตรี /ส.ส                       98.0
2          นักการเมืองท้องถิ่น เช่น อบจ. /อบต. /ผู้ใหญ่บ้าน                 96.1
3          ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ /ผู้บังคับบัญชาการระดับสูง                     95.5
4          พ่อค้า/กลุ่มนายทุน                                          92.4
5          ข้าราชการชั้นผู้น้อย                                         89.7
6          นักเรียน/นักศึกษา                                          88.5
7          ครู/อาจารย์                                              86.6

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ