เอแบคโพลล์: ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และ การลดแลกแจกแถมช่วงเลือกตั้ง หรือ อิเลคชั่นฟอร์เซล (Election for Sale) ในหมู่ประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Sunday December 11, 2011 21:22 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการลดแลกแจกแถม ช่วงเลือกตั้งหรือ อิเลคชั่นฟอร์เซล (Election for Sale) ในหมู่ประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ เลย ขอนแก่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี สตูล และพัทลุง จำนวนทั้งสิ้น 1,994 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 1 - 10 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.7 มองว่าการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นเรื่องค่อนข้างดีถึงดีมาก มีเพียงร้อยละ 10.3 ที่คิดว่าไม่ค่อยดีถึงไม่ดีเลย และที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.5 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยยังดีกว่าการปกครองในรูปแบบอื่นถึงแม้มีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น และความไม่เป็นธรรมในสังคม

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550 พบว่า ร้อยละ 38.4 ไม่เห็นด้วยแต่จะไม่ชักชวนคนอื่นให้ออกมาคัดค้าน ในขณะที่ร้อยละ 9.2 ไม่เห็นด้วยและจะชักชวนคนอื่นออกมาคัดค้าน อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 35.2 เห็นด้วยแต่จะไม่ชักชวนคนอื่นให้ออกมาเรียกร้อง ในขณะที่ร้อยละ 17.2 เห็นด้วย และจะชักชวนคนอื่นออกมาเรียกร้องให้แก้ไข ที่น่าเป็นห่วงเพราะกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและกลุ่มที่เห็นด้วยมีสัดส่วนมากพอๆ กันจนเกรงว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงของคนในชาติได้

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.2 คิดว่าพรรคการเมือง “ฝ่ายรัฐบาล” มีการแจกเงินให้สิ่งของบางอย่างแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงหาเสียง เช่น เงิน ของใช้ และทรัพย์สินอื่นๆ โดยแยกเป็นร้อยละ 24.4 คิดว่ามีการให้มาก และร้อยละ 47.8 คิดว่ามีการให้บ้าง ตามลำดับ ในขณะที่ ร้อยละ 66.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเล็กน้อย แต่ยังถือเป็นส่วนใหญ่เช่นกันระบุว่า พรรคการเมือง “ฝ่ายค้าน” ก็มีการแจกเงินให้สิ่งของบางอย่างแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงหาเสียงเช่นกัน โดยร้อยละ 16.4 คิดว่ามีการให้มาก และร้อยละ 50.1 คิดว่ามีการให้บ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอย่างร้อยละ 43.2 คิดว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมามีการแจกเงินให้สิ่งของบางอย่างแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ในขณะที่ร้อยละ 28.7 คิดว่าเท่าเดิมและร้อยละ 28.1 คิดว่าน้อยกว่า

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ กรณีข่าวปล้นบ้านของปลัดกระทรวงคมนาคมและพบเงินสดจำนวนมากนั้น ผลสำรวจครั้งนี้พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 90 คิดว่ามีการซุกซ่อนเงินสดที่บ้านพัก ของกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการคนอื่นๆ อีก ในขณะที่เพียงร้อยละ 8.3 เท่านั้นที่ไม่คิดว่ามี

ผอ.เอแบคโพลล์ ระบุผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดให้เห็นความสอดคล้องของข้อมูลที่เคยสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมาว่า กลุ่มพลังเงียบผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นกลุ่มใหญ่ที่มากที่สุดในสังคมไทย โดยมีกลุ่มที่เป็นแฟนคลับขาประจำเข้มข้นแบบสุดขั้วสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านรัฐบาลเป็นคนกลุ่มน้อย แต่เมื่อใดก็ตามที่มีประเด็นร้อนทางการเมืองเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การอภัยโทษ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ผลที่ตามมาคือ ประเด็นร้อนเหล่านี้มักจะแบ่งกลุ่มพลังเงียบแตกออกเป็นสองกลุ่มในสัดส่วนที่มากพอจนอาจเสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกรุนแรงของคนในชาติได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยถึงแม้มีปัญหาต่างๆ มากมาย ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องร่วมกันบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนให้อยู่ในกรอบ ของกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องสามารถจัดระเบียบควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงที่มีความขัดแย้งได้แต่ไม่แตกแยกรุนแรงในหมู่ประชาชน หากเกิดอะไรขึ้นก็คงต้องปล่อยให้สาธารณชนถอดบทเรียนช่วยกันประคับประคองประเทศชาตินำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ดีกว่า โดยมีแนวทางเสนอแนะดังต่อไปนี้

ประการแรก รัฐบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความวางใจหรือ TRUST ในการบริหารจัดการทรัพยากรและการแก้ปัญหาเดือดร้อนเรื่องต่างๆ ที่ใกล้ตัว ประชาชน เช่น ใช้สื่อทุกช่องทางของรัฐบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดเผยให้สาธารณชนแกะรอยการใช้จ่ายงบประมาณลงไปถึงมือประชาชนครอบคลุมท้องถิ่นท้องที่ใดบ้าง มากน้อยเพียงไร ผลพลอยได้ที่คาดว่าจะตามมาคือ ประเทศไทยน่าจะได้รับการเลื่อนอันดับความโปร่งใสสูงขึ้นและฝ่ายการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นจะไม่ต้องมาห้ำหั่นกันเหมือนกับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ในการแย่งชิง อำนาจและทรัพยากรจนอาจทำให้เสถียรภาพของสังคมเกิดอาการแกว่งตัว แต่ความมั่นคงจะเกิดขึ้นถ้าความทุกข์ของประชาชนได้รับการบรรเทาเยียวยา

ประการที่สอง ฝ่ายการเมืองและกลไกของรัฐในเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นและการดูแลการเลือกตั้งอาจต้องพิจารณาถึงสถานะการคงอยู่ของทัศนคติยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ผลประโยชน์ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทำงานเชิงรุกอย่างจริงจังต่อเนื่อง และการที่ประชาชนจำนวนมากพบเห็นการจ่ายเงินเพื่อเป็นอามิจสินจ้างในช่วงหาเสียงเลือกตั้งแต่ คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานให้ประชาชนทั่วไปและฝ่ายการเมืองเห็นถึงผลร้ายต่อตนเองและประเทศชาติได้ การศึกษาวิจัยเพื่อพิจารณายุบหรือการปฏิรูปองค์กรทั้งสองก็น่าจะเป็น อีกทางเลือกหนึ่งได้เพราะถ้ามีองค์กรเหล่านี้มาเป็นเวลานานหลายปีแล้วแต่ไม่สามารถทำให้เกิดการขับเคลื่อนสิ่งที่ดีกว่าในสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สาม หากคิดจะแก้กฎหมายก็ขอให้ฝ่ายการเมืองเร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดทางให้การแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็วฉับไวหรือมี Responsiveness และเกิดจิตตระหนักความรับผิดชอบต่อสาธารณะหรือ Public Accountability เพื่อให้กฎหมายเป็นช่องทางของการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและลดทอน “อคติแห่งนครา” ที่นโยบาย สาธารณะของรัฐบาลในอดีตมักเอื้อต่อผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มมากกว่า

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง

ร้อยละ 47.4 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 21.2 อายุ 20 — 29 ปี

ร้อยละ 22.1 อายุ 30 — 39 ปี

ร้อยละ 24.6 อายุ 40 — 49 ปี

และร้อยละ 27.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป

โดยตัวอย่าง ร้อยละ 31.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 29.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 10.3 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 11.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 6.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 6.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ ร้อยละ 72.6 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 23.0 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 4.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย    ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างดีถึงดีมาก                                         89.7
2          ไม่ค่อยดีถึงไม่ดีเลย                                        10.3
          รวมทั้งสิ้น                                               100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยยังดีกว่าการปกครองในรูปแบบอื่น ถึงแม้มีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นและความไม่เป็นธรรมในสังคม
ลำดับที่          ความคิดเห็น                     ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง               91.5
2          ไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง            8.5
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วยและจะชักชวนคนอื่นออกมาเรียกร้องให้แก้ไข      17.2
2          เห็นด้วยแต่ไม่ชักชวนคนอื่นให้ออกมาเรียกร้อง           35.2
3          ไม่เห็นด้วยแต่ไม่ชักชวนคนอื่นให้ออกมาคัดค้าน           38.4
4          ไม่เห็นด้วยและจะชักชวนคนอื่นออกมาคัดค้าน             9.2
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้แจกเงินให้สิ่งของบางอย่างแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงหาเสียง เช่น เงิน ของใช้ และทรัพย์สินอื่นๆ
ลำดับที่          การแจกเงินให้สิ่งของแก่ประชาชนของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล          ค่าร้อยละ
1          ไม่มีการให้เลย                                                   22.3
2          ไม่มี แต่ถ้ามีให้ก็น้อยมาก                                             5.5
3          คิดว่ามีให้บ้าง                                                    47.8
4          คิดว่าให้มาก                                                     24.4
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้แจกเงินให้สิ่งของบางอย่างแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงหาเสียง เช่น เงิน ของใช้ และทรัพย์สินอื่นๆ
ลำดับที่          การแจกเงินให้สิ่งของแก่ประชาชนของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน            ค่าร้อยละ
1          ไม่มีการให้เลย                                                   26.9
2          ไม่มี แต่ถ้ามีให้ก็น้อยมาก                                             6.6
3          คิดว่ามีให้บ้าง                                                    50.1
4          คิดว่าให้มาก                                                     16.4
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 6 เปรียบเทียบการเลือกตั้ง ปี 2554 กับการเลือกตั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 คุณคิดว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมามีการแจกเงินให้สิ่งของบางอย่างมากกว่า หรือน้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2551
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          น้อยกว่า                               28.1
2          เท่าเดิม                               28.7
3          มากกว่า                               43.2
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการซุกซ่อนเงินสดของกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการที่บ้านพักอีก
ลำดับที่          ความคิดเห็น            ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามี                     91.7
2          ไม่คิดว่ามี                    8.3
          รวมทั้งสิ้น                   100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ