เอแบคโพลล์: ดัชนีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน ASEAN CONSUMER INDEX และผลการศึกษาเบื้องต้น

ข่าวผลสำรวจ Monday December 19, 2011 10:57 —เอแบคโพลล์

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.โต๊ะ เคียน โคก คณบดีคณะธุรกิจและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย UCSI มาเลเซีย และนายโจเซฟ วลาดีเมียร์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเชิงสำรวจสถานีวัดบรรยากาศทางสังคม ประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมกันแถลงข่าวจับมือสร้างเครือข่ายวิจัยดัชนีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN CONSUMER INDEX) และผลการศึกษาเบื้องต้นกับกลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยมหาวิทยาลัย UCSI สุ่มตัวอย่างจำนวน 266 ครัวเรือน และศูนย์วิจัยความสุขชุมชนได้เก็บข้อมูลจำนวน 2,179 ครัวเรือนตัวอย่าง ผ่านระเบียบวิธีวิจัยเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นโดยมีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่บวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1—18 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา พบว่า

เมื่อถามถึงรายได้ส่วนตัวปัจจุบันเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.0 ของตัวอย่างครัวเรือนมาเลเซียระบุทรงตัว โดยกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 26.3 ระบุดีขึ้น และร้อยละ 10.7 ระบุแย่ลง แต่ในกลุ่มตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยร้อยละ 51.2 ระบุทรงตัว โดยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.0 ระบุแย่ลง และเพียงร้อยละ 12.8 ระบุดีขึ้น

เมื่อถามถึงรายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.8 ของครัวเรือนมาเลเซียระบุดีขึ้น ร้อยละ 54.6 ระบุทรงตัว และร้อยละ 12.6 ระบุแย่ลง ในขณะที่ตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยร้อยละ 26.8 ระบุดีขึ้น ร้อยละ 53.7 ระบุทรงตัวและร้อยละ 19.5 ระบุแย่ลง

เมื่อถามถึงรายได้ของครอบครัวโดยรวมในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.5 ของตัวอย่างครัวเรือนในประเทศมาเลเซีย ระบุทรงตัว ร้อยละ 21.8 ระบุดีขึ้น และร้อยละ 13.7 ระบุแย่ลง ในขณะที่ตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยร้อยละ 51.7 ระบุทรงตัว ร้อยละ 19.3 ระบุดีขึ้น และร้อยละ 29.0 ระบุแย่ลง

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงรายได้ของครอบครัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 30.3 ของตัวอย่างครัวเรือนมาเลเซียระบุดีขึ้น ร้อยละ 54.4 ระบุทรงตัว และร้อยละ 15.3 ระบุแย่ลง ในขณะที่ตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยร้อยละ 31.9 ระบุดีขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 51.8 ระบุทรงตัว และร้อยละ 16.3 ระบุแย่ลง

และเมื่อถามถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 13.0 ของตัวอย่างครัวเรือนมาเลเซียระบุดีขึ้น ร้อยละ 44.3 ระบุทรงตัว และร้อยละ 42.7 ระบุแย่ลง ในขณะที่ร้อยละ 34.7 ของตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยระบุดีขึ้น ร้อยละ 36.7 ระบุทรงตัว และร้อยละ 28.6 ระบุแย่ลง

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยคือ เมื่อสอบถามถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.5 ของตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยระบุราคาสูงขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 11.7 ระบุเท่าเดิม และเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้นที่ระบุลดลง แต่สำหรับประเทศมาเลเซีย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 15.6 ระบุลดลง ร้อยละ 23.7 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 60.7 ระบุสูงขึ้น

เมื่อถามราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.9 ของตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยระบุราคาสินค้าจะสูงขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 25.0 ระบุเท่าเดิม มีเพียงร้อยละ 5.1 ระบุจะลดลง แต่สำหรับประเทศมาเลเซีย พบว่า ร้อยละ 16.4 ระบุจะลดลง ร้อยละ 29.8 จะเท่าเดิม ร้อยละ 53.8 ระบุจะสูงขึ้น

ที่น่าพิจารณาคือ ผลการวิเคราะห์ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เมื่อค่าอ้างอิงความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 100 จุด พบว่า ตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือนของประเทศไทย “มีความเชื่อมั่น” เพียง 3 ตัวชี้วัดได้แก่ รายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 107.3 จุด รายได้ของครอบครัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 115.6 จุด และสถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 106.2 จุด อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดที่เหลือของตัวอย่างผู้บริโภคคนไทย “ไม่มีความเชื่อมั่น” จำนวน 9 ตัวชี้วัด ได้แก่ รายได้ส่วนตัวปัจจุบัน อยู่ที่ 76.9 จุด รายได้ของครอบครัวโดยรวมในปัจจุบันอยู่ที่ 90.2 จุด สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบันอยู่ที่ 69.5 จุด นอกจากนี้ ตัวอย่างผู้บริโภคครัวเรือนของประเทศไทยที่ไม่เชื่อมั่นในตัวชี้วัดอื่นๆ อีกได้แก่ การซื้อสินค้าคงทน เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ในปัจจุบันอยู่ที่ 81.2 จุดและในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 81.6 จุด โอกาสหางานทำปัจจุบันอยู่ที่ 37.6 จุด แต่ความเชื่อมั่นในโอกาสในการหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้าสูงขึ้นอยู่ที่ 51.9 แต่แผนที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ที่ 31.7 จุด และแผนที่จะซื้อบ้านหลังใหม่หรือที่พักอาศัยใหม่อยู่ที่เพียง 17.7 จุดเท่านั้น

ในขณะที่ตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือนในมาเลเซีย มีความเชื่อมั่นในตัวชี้วัดต่างๆ ได้แก่ รายได้ส่วนตัวในปัจจุบันอยู่ที่ 115.6 จุด รายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 120.2 จุด รายได้ของครอบครัวโดยรวมในปัจจุบันอยู่ที่ 108.0 รายได้ของครอบครัวโดยรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 114.9 จุด นอกจากนี้ ยังมีแผนจะซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ที่ 109.2 จุด และซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ที่ 103.1 จุด ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดที่เหลือต่ำกว่าค่าอ้างอิงหรือกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับที่ “ไม่เชื่อมั่น” ได้แก่ สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจในปัจจุบัน การซื้อสินค้าคงทน เครื่องใช้ไฟฟ้า โอกาสหางานทำในปัจจุบันและโอกาสหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวว่า ASEAN CONSUMER INDEX ที่จัดทำขึ้นนี้เป็นการเก็บข้อมูลภายในประเทศ และเป็นการก้าวสู่ความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการร่างนโยบายสาธารณะของภาครัฐ ตลอดจนช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจของภาคเอกชน โดยข้อมูลที่ทำการสำรวจจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความคาดหวังของผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการบริโภคสินค้าและบริการอย่างเหมาะสมอีกด้วย

ในขณะที่ดร.อุดม กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในส่วนของประเทศไทยที่อยู่ในระดับเชื่อมั่นในส่วนของ “รายได้” ในอีก 3 เดือนข้างหน้าทั้งที่เป็นรายได้ส่วนตัว กับรายได้ของครอบครัว น่าจะเป็นผลที่ประชาชนคาดหวังว่าจะได้รับจากนโยบายของรัฐบาลทั้งในค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวันและปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงแผนการใช้จ่ายซื้อรถซื้อบ้านยังอยู่ในระดับที่ต่ำซึ่งทำให้เห็นว่า คนไทยยังคงขาดความเชื่อมั่นอย่างมากถ้าไม่มีความหวังต่อนโยบายของรัฐบาลอาจส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำกว่าค่าอ้างอิงมาตรฐานทุกตัวชี้วัด

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 48.6 เป็นชาย

ร้อยละ 51.4 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 4.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 22.8 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 30.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 69.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 26.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 4.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 32.1 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 28.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 9.3 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 10.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 9.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตัวอย่าง ร้อยละ9.8 ระบุมีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000บาท

ร้อยละ 15.0 ระบุ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน

ร้อยละ 9.2 ระบุ 10,001-15,000 บาทต่อเดือน

ร้อยละ 10.5 ระบุ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน

และร้อยละ 54.2 ระบุมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

โปรดพิจารณารายละเอียดดังต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุรายได้ส่วนตัวในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553
ลำดับที่          รายได้ส่วนตัวในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553    ไทยค่าร้อยละ   มาเลเซียค่าร้อยละ
1          ดีขึ้น                                                              12.8           26.3
2          ทรงตัว                                                            51.2           63.0
3          แย่ลง                                                             36.0           10.7
          รวมทั้งสิ้น                                                          100.0          100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุรายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่          รายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า         ไทยค่าร้อยละ   มาเลเซียค่าร้อยละ
1          ดีขึ้น                                        26.8           32.8
2          ทรงตัว                                      53.7           54.6
3          แย่ลง                                       19.5           12.6
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0          100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุรายได้ของครอบครัวโดยรวมในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553
ลำดับที่          รายได้ของครอบครัวโดยรวมในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี2553  ไทยค่าร้อยละ  มาเลเซียค่าร้อยละ
1          ดีขึ้น                                                                     19.3          21.8
2          ทรงตัว                                                                   51.7          64.5
3          แย่ลง                                                                    29.0          13.7
          รวมทั้งสิ้น                                                                 100.0         100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุรายได้ของครอบครัวโดยรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่          รายได้ของครอบครัวโดยรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า           ไทยค่าร้อยละ  มาเลเซียค่าร้อยละ
1          ดีขึ้น                                                     31.9          30.3
2          ทรงตัว                                                   51.8          54.4
3          แย่ลง                                                    16.3          15.3
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0         100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่          สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้า    ไทยค่าร้อยละ    มาเลเซียค่าร้อยละ
1          ดีขึ้น                                                  34.7          13.0
2          ทรงตัว                                                36.7          44.3
3          แย่ลง                                                 28.6          42.7
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0         100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553
ลำดับที่          ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553   ไทยค่าร้อยละ มาเลเซียค่าร้อยละ
1          สูงขึ้น                                                                      82.5          60.7
2          เท่าเดิม                                                                    11.7          23.7
3          ลดลง                                                                       5.8          15.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0         100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่          ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ในอีก 3 เดือนข้างหน้า            ไทยค่าร้อยละ  มาเลเซียค่าร้อยละ
1          จะสูงขึ้น                                                  69.9          53.8
2          เท่าเดิม                                                  25.0          29.8
3          จะลดลง                                                   5.1          16.4
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0         100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเปรียบเทียบผู้บริโภคในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย จำแนกตามตัวชี้วัด
(ถ้าค่าต่ำกว่า 100 หมายถึง ไม่เชื่อมั่น)
ลำดับที่          ตัวชี้วัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค                                  ไทยค่าดัชนี    มาเลเซีย       ค่าอ้างอิง
                                                                          ที่วัดได้    ค่าดัชนีที่วัดได้    ความเชื่อมั่น
1          รายได้ส่วนตัวในปัจจุบัน                                               76.9      115.6          100
2          รายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า                                    107.3      120.2          100
3          รายได้ของครอบครัวโดยรวมในปัจจุบัน                                    90.2      108.0          100
4          รายได้ของครอบครัวโดยรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า                         115.6      114.9          100
5          สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบัน                            69.5       74.0          100
6          ในอีก 3 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจ                106.2       70.2          100
7          คาดว่าจะซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ในปัจจุบัน             81.2       86.3          100
8          ในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์   81.6       84.4          100
9          โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                                        37.6       65.6          100
10          โอกาสในการหางานทำ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า                            51.9       70.2          100
11          มีแผนที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่                                            31.7      109.2          100
12          มีแผนที่จะซื้อบ้านหลังใหม่หรือที่พักอาศัย                                   17.7      103.1          100
          ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม                                               86.4       93.5          100

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ