ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ที่สุดแห่งปี 2554 ด้านข่าว กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี จันทบุรี ชลบุรี ลพบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,104 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 30 ธันวาคม 2554 พบว่า
ข่าวที่ประชาชนสนใจติดตามมากที่สุดในรอบปี 2554 อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 68.4 ระบุข่าวภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม คลื่นสูง ดินถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้น อันดับที่สอง ได้แก่ ร้อยละ 24.0 ระบุข่าวการเมือง ร้อยละ 2.6 ระบุข่าวบันเทิง และรองๆ ลงไปคือ ข่าวอาชญากรรมและยาเสพติด ข่าวกีฬา ข่าวเศรษฐกิจ และข่าวการศึกษา ตามลำดับ
เมื่อถามถึงข่าวที่ทำให้ทุกข์ใจมากที่สุดแห่งปี 2554 พบว่า อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 51.2 ระบุข่าวน้ำท่วม รัฐบาลล้มเหลวและไม่เป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ทุจริตถุงยังชีพ เลือกปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในขณะที่ข่าวทุกข์ใจอันดับสองได้แก่ ร้อยละ 15.3 ระบุปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ อันดับที่สามได้แก่ ร้อยละ 10.4 ระบุข่าวอาชญากรรมและยาเสพติด อันดับที่สี่ได้แก่ ร้อยละ 7.9 ระบุความขัดแย้งทางการเมือง ข่าวชุมนุมประท้วง อันดับห้าได้แก่ ร้อยละ 5.7 ระบุข่าวความไม่สงบในภาคใต้ รองๆ ลงไปคือ ข่าวเฮลิคอปเตอร์ตก ข่าววัยรุ่นตีกัน ข่าวทุจริตคอรัปชั่น สังคมเสื่อม และข่าวทำร้ายทารุณสัตว์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ทำให้สุขใจมากที่สุด ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 53.4 ระบุข่าวในหลวงทรงแข็งแรง และข่าววันครบรอบ 84 พรรษาของในหลวง รองลงมาคือร้อยละ 19.3 ระบุข่าวน้ำลด น้ำไม่ท่วม และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในขณะที่อันดับสามได้แก่ ร้อยละ 11.6 ระบุข่าวรัฐบาลทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ อันดับสี่ได้แก่ ร้อยละ 8.5 ระบุข่าวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก อันดับห้า ได้แก่ ร้อยละ 4.1 ระบุข่าวนักกีฬาไทยแข่งขันชนะชาติอื่น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุผลการจัด 5 อันดับพิธีกรเล่าข่าวทางสถานีโทรทัศน์ที่ชื่นชอบมากที่สุดแห่งปี 2554 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 72.2 ระบุนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา รองๆ ลงไปคือ นายกิตติ สิงหาปัด นายกนก รัตน์วงศ์สกุล นางสาวนารากร ติยายน และกาละแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ ตามลำดับ
ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 52.9 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 47.1 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 6.1 อายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 15.3 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 40-49 ปี ตัวอย่างร้อยละ 36.8 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 28.2 สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอาชีพประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 30.9 เป็นเกษตรกร รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 25.1 ค้าขายอิสระ ร้อยละ 12.1 เป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.9 เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.8 เป็นแม่บ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 7.3 เป็นนักศึกษา และร้อยละ 3.9 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
--เอแบคโพลล์--