เอแบคโพลล์: แนวโน้มความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness, GDH) ของคนไทยภายในประเทศ ประจำเดือนมกราคม 2555

ข่าวผลสำรวจ Monday February 6, 2012 07:27 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำ ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือ ศูนย์วิจัย ความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แนวโน้มความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness, GDH) ของคน ไทยภายในประเทศ ประจำเดือนมกราคม 2555 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สุพรรณบุรี เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี ขอนแก่น หนองคาย นครศรี ธรรมราช นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,231 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 23 มกราคม — 4 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดย ใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนตัวอย่างระดับครัวเรือน ช่วง ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

จากการประเมินความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศหรือที่เรียกว่า GDH ประจำเดือนมกราคม 2555 นั้น พบว่า เมื่อคะแนน ความสุขมวลรวมเต็ม 10 คะแนน ความสุขของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.55 คะแนน ปลายเดือนอยู่ ที่ 6.80 คะแนน และล่าสุดความสุขมวลรวมประจำเดือนมกราคม 2555 ของคนไทยภายในประเทศลดลงมาอยู่ที่ 6.66 คะแนน

โดยมีปัจจัยด้านลบที่ฉุดทำให้ความสุขของประชาชนลดลงมีอยู่สองปัจจัยสำคัญได้แก่ สถานการณ์การเมืองโดยรวมของประเทศ เช่น ความ ขัดแย้งเรื่องการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับคณะรัฐมนตรี และความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองในหมู่ ประชาชน เป็นต้น ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศด้านสถานการณ์การเมืองอยู่ที่เพียง 4.27 คะแนน และปัจจัยลบประการที่สอง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เช่น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นแต่รายได้เท่าเดิม รายได้ลดลง ค่าครองชีพสูง หนี้สินเพิ่ม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศด้านเศรษฐกิจระดับครัวเรือนอยู่ที่ 4.39 คะแนนเท่านั้น

ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญคือ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศอยู่ที่ 9.29 คะแนน และตามด้วยบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่ 8.14 สุขภาพใจอยู่ที่ 7.93 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.90 และรองๆ ลงไปคือ วัฒนธรรม ประเพณีไทยในปัจจุบัน การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดี หน้าที่การงาน อาชีพ บรรยากาศของคนในชุมชน เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สภาพ แวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำปะปา โทรศัพท์ เป็นต้น และระบบการศึกษาของประเทศ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า มีความน่าเป็นห่วงในเรื่องความแตกต่างระหว่างข่าวสารของสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ของประเทศกับสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชน เพราะอาจเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่จริงหรืออาจเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แบบกระจุกตัวอยู่กับคนเฉพาะกลุ่มที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาว่า ค่าใช้ จ่ายสูงแต่รายได้เท่าเดิม รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงจำเป็นต้องทำให้ความสุขของประชาชนต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของ ประเทศและสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชนไม่แตกต่างกันมากนัก

“อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.8 ให้โอกาส นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงานต่อไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ไม่นานและโดยธรรมชาติของคนไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ให้โอกาสคนถ้าไม่ได้เป็นปัญหามากจนเกินไปสำหรับประเทศชาติ และคนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากเห็นความแตกแยกวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคม” นางสาว ปุณทรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 51.0 เป็นหญิง ร้อยละ 49.0 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 5.1 อายุ ต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.9 อายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 25.6 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 25.3 อายุ 40 — 49 ปี และร้อยละ 20.1 อายุ 50 ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 88.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 10.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.1 สำเร็จการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 38.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 34.9 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 6.3 ระบุอาชีพ พนักงานเอกชน ร้อยละ 4.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.2 เป็นนักเรียน นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงแนวโน้มค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมของคนไทยตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2552 จนถึงปัจจุบัน เมื่อคะแนนเต็ม 10
                              มี.ค.     มิ.ย.    ก.ค.    ส.ค.    ต.ค.    พ.ย.    ม.ค.    ก.ค.    ก.ย.    พ.ย.    ธ.ค.53    ม.ค.     มี.ค.     ต้นก.ค.    ปลายก.ค.     ก.พ.
                                52       52      52      52      52      52      53      53      53      53                54       54         54           54      55
                               6.2      7.2     5.9     7.2     6.8     7.5     6.5     6.8     6.6     5.4      8.37     5.3      6.6       7.55          6.8     6.7
ค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวม
ของคนไทยภายในประเทศ
 (Gross Domestic Happiness)   6.18     7.15    5.92    7.18    6.83    7.52     6.52    6.77   6.57    5.42      8.37    5.28     6.61       7.55         6.80    6.66


ตารางที่ 2  แสดงค่าเฉลี่ยของค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่          กลุ่มปัจจัยต่างๆ                                                  ค่าเฉลี่ย
1          ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์                                      9.29
2          บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว                                    8.14
3          สุขภาพทางใจ                                                         7.93
4          สุขภาพทางกาย                                                        7.90
5          วัฒนธรรมประเพณีไทยในปัจจุบัน                                            7.49
6          การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดีที่ท่านได้รับ                               7.44
7          หน้าที่การงาน  อาชีพ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน                                      7.43
8          บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน                 7.39
9          สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์                      7.34
10          ระบบการศึกษาของประเทศ                                              6.86
11          สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ                                             6.71
12          ภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย ในสายตาต่างชาติ                           6.15
13          ความเป็นธรรม / ไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ท่านได้รับ                            5.91
14          สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เช่น ค่าใช้จ่ายสูงแต่รายได้เท่าเดิม
            รายได้ลดลง ค่าครองชีพสูง หนี้สินเพิ่ม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น        4.39
15          สถานการณ์การเมืองโดยภาพรวม เช่น ความขัดแย้งแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบัน

พระมหากษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับคณะรัฐมนตรี ความขัดแย้งแตกแยก

            ทางการเมืองในหมู่ประชาชน เป็นต้น                                       4.27
       ความสุขมวลรวม ของคนไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2555                            6.66

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การให้โอกาส นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ลำดับที่          การให้โอกาส                      ค่าร้อยละ
1          ให้โอกาส                                60.8
2          ไม่ให้โอกาส                              39.2
          รวมทั้งสิ้น                                100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ